เยเรมีย์
Jeremiah

ผู้เขียนเยเรมีย์
ช่วงเวลาก.ค.ศ. 629-588
( ก่อน และระหว่างการกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน)

วัตถุประสงค์
คำเผยพระวจนะ คำหนุนใจ และคำเปรียบเทียบกับการล่มลง และการฟื้นฟูขึ้นใหม่ของยูดาห์
เนื้อหา
เยเรมีย์เหมือนกับอิสยาห์ คือเป็นคนหนุ่มที่พระเจ้าทรงเรียกให้ไปร้องเตือนคนยูดาห์เกี่ยวกับความชั่วช้าของพวกเขา งานรับใช้ 20 ปีแรกของเขาอยู่ภายใต้การปกครองของโยสิยาห์ กษัตริย์ผู้ซึ่งพยายามโน้มนำประชาชนชาวยูดาห์ให้กลับมาหาพระเจ้า แต่หลังจากนี้ต่อมาเยเรมีย์ต้องเผชิญภยันตราย จากผู้นำทางการเมืองและศาสนาที่แค้นเคืองเยเรมีย์เนื่องด้วยถ้อยคำที่เขาป่าวประกาศ พระเจ้าทรงปกป้องเยเรมีย์เอาไว้ ดังนั้น เขาจึงยังคงสามารถร้องเตือนคนชั่วช้า และปลอบประโลมใจคนเชื่อพึ่งพระเจ้าได้ต่อไป หลังจากเยรูซาเล็มถูกทำลายเยเรมีย์เลือกอยู่กับประชาชนที่เหลือ และเดินทางไปอียิปต์กับพวกเขา

โครงเรื่อง
การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เยโยสิยาห์ 1-12
การครองราชย์ของโฮยาคิม 13-20,25,26,35,36,37-39
การไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน40-44
การพิพากษาโทษประเทศรอบ ๆ อิสราเอล45-52

ข้อควรคิด

พระเมตตาของพระเจ้า

"เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า"

เยเรมีย์ 29:13
ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนอยากตีลูก เพราะการตีลูกพ่อแม่ก็เจ็บด้วย แต่เมื่อลูกดื้อดึง ไม่เชื่อฟัง เห็นผิดเป็นถูก พ่อที่ดีก็ต้องตีเขาให้เจ็บ ในความคิดของพ่อแม่ขณะที่ตีลูกดื้อก็คาดหวังว่าลูกที่เดินหน้าทำผิดไม่หยุดจะได้เลิกทำผิด สำนึกผิดและกลับใจใหม่ ไม่ใช่ตีเพราะความมันหรือให้สะใจ เมื่อตีก็ต้องตีให้เจ็บ เพื่อลูกจะได้เข็ดหลาบ ไม่ใช่ตีพอเป็นพิธี การตีพอเป็นพิธีลูกจะยิ่งดื้อไม้ ไม่เกิดประโยชน์อันใด

ก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มแตกพ่ายแพ้กษัตริย์เนบูคัดเนสซา แห่งบาบิโลน พระเจ้าใช้เยเรมีย์ให้ตักเตือนชาวยิว ให้กลับใจ ทั้งชี้แจงให้ฟังว่าการดื้อดึง ขัดขืนกระทำผิด จะเป็นเหตุให้ถูกลงโทษ แต่คนยิวก็ไม่ฟัง แล้วพวกเขาก็ถูกลงโทษ คือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน คนเราไม่เห็นโลงศพ ก็มักไม่หลั่งน้ำตา เมื่อเจ็บจริงก็จะสำนึก ร้องเรียกพระเจ้า บางคนเมื่อถูกตีก็โวยวาย คิดว่าพระเจ้าไม่รัก ความจริงนี่คือความรัก คนไทยเราว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เพราะรักน่ะซี พระเจ้าถึงได้ใช้ไม้เรียว หากวันนี้เราดื้อดึง ดำเนินชีวิตออกนอกกรอบศีลธรรม ให้เรากลับใจเสียใหม่ หันมาเชื่อฟังพระองค์ ลองไปถามพ่อที่ตีลูกจนลูกเจ็บปวด ว่าคิดเห็นอย่างไร พ่อก็จะบอกว่า พ่อพร้อมคืนความสัมพันธ์ให้ลูก ทันทีที่ลูกกลับใจใหม่ ถ้าพ่อชักช้าอยู่บ้างก็เพราะให้ลูกได้มีเวลาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ว่าตนผิดอย่างไร เพื่อเมื่อเขากลับมาจะได้กลับมาด้วยสุดหัวใจ พระเจ้าก็เหมือนกัน ขณะที่ยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ก็ตื่นเต้นที่จะบอกว่า เมื่อครบเจ็ดสิบปี ก็จะเยี่ยมเยียนพวกเขา และเมื่อเขาหันมาเสาะหาพระเจ้า ถ่อมใจมาหาพระองค์ ด้วยสุดใจพระองค์ก็จะพบเขา คืนความสัมพันธ์ให้ ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูกล่าวว่า
“อย่าท้อถอยในเมื่อเมื่อพระองค์ตีสอนนั้น…. เมื่อมีการตีสอนนั้นดูไม่เป็นที่ชื่นใจเลย
เป็นเรื่องเศร้าใจ แต่ต่อมาภายหลังก็จะก่อให้เกิดความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น
คือความชอบธรรมนั่นเอง” (ฮีบรู 12:5,11) อย่ากลัวที่จะกลับมาหาพระเจ้า เพราะน้ำพระทัยของพระเจ้าคือ “พระเมตตาอันยิ่งใหญ่”

Visitor 570

 อ่านบทความย้อนหลัง