อยากเป็นนักเขียนได้ซิคะ


สวัสดีค่ะพี่น้องทุก ๆ ท่าน

“ป้าอรัญญาคะ หนูอยากเป็นนักเขียน จะเริ่มต้นยังไงดีคะ” ถ้อยสำเนียงกึ่งเกรงใจ ดังออกมาจากสาวน้อยหน้าสวยใส สายตาเว้าวอนสบตาฉันอย่างไม่ค่อยแน่ใจ ว่าฉันจะตอบรับหรือปฏิเสธ
“ได้ซิคะ ดีใจมากที่หนูอยากเป็นนักเขียน ป้าอรัญญาเต็มใจให้คำแนะนำค่ะ หนูเอาจริงแน่ใช่ไหมคะ”

ใช่!! การคิดจะทำอะไรนั้น ผลสำเร็จไม่ได้เกิดจากการศึกษาตำรับตำรา หรือความเชี่ยวชาญ หรือโอกาส หรือในเวลาที่เหมาะสม หรือมีคนสนับสนุน หรือสภาวะภายนอกผนวกกับสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกให้กระทำงานนั้น ๆ
แต่ผลสำเร็จเกิดจากใจที่มุ่งมั่นเอาจริงต้องการไปสู่เป้าหมายอย่างไม่ย่อท้อของคุณเอง

ทุกคนที่คิดได้ เป็นนักเขียนได้
แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ที่พูดได้แล้ว (หรือสื่อภาษาได้กรณีพิการไม่อาจเปล่งเสียงออกมา) แต่ยังเขียนไม่ได้ ก็สามารถเป็นนักเขียนได้ โดยการเล่าเรื่อง จากความคิดของหนูน้อยเอง ถ้าเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่สนใจฟังจะได้เรื่องราวมากมายอย่างคาดไม่ถึง อาจเป็นมุมมอง เป็นความคิด เป็นจินตนาการ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราเองไม่เคยคิด ไม่เคยมองมาก่อนก็ได้ เช่น



“แม่จ๋า ทำไมมดบ้านเราตัวเล็กนิดเดียว หนูเคยเห็นมดตัวใหญ่เท่าแมว มันเล่นกันสนุกจังเลย ขามดดึงขนแมวออกมาเต็มห้อง หนูสงสารแมวจังแม่ แมวมันร้องเหมียว ๆ มันเจ็บนะแม่” คุณเคยคิดอย่างนี้ไหมคะ? ฉันไม่เคยคิดเลย! เห็นไหมคะ แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็รู้จักเขียนด้วยคำพูด แล้ว

งานเขียน คือ การเล่าเรื่อง เป็นตัวหนังสือ ด้วยลีลาวิธีการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนักเขียน และตามลักษณะของงานเขียน เช่น นิยาย (หลากหลายแนว) สารคดี ข่าว วิจารณ์วิเคราะห์ ฯลฯ แม้แต่คนที่ยังไม่เข้าใจ วิธีการเขียนเป็นตัวหนังสือ ต่างก็เขียนด้วยคำพูด ด้วยถ้อยสำเนียงภาษาเฉพาะของตนเองอยู่ทุกวี่ทุกวันเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่คิดได้ (บางคนที่พิการทางสมองมาแต่กำเนิดอาจจะยากที่จะคิด แต่โอกาสที่จะคิดได้ยังมีอยู่เสมอ) จึงเป็นนักเขียนได้


คุณต้องเป็นนักอ่านตัวยง
เพราะการเขียนคือการเล่าเรื่อง ผู้เล่าจึงต้องมีเรื่องราวหลากหลายฝังสะสมอยู่ในสมอง ยิ่งมากยิ่งดี หนังสือเป็นแหล่งความรู้ แหล่งของเรื่องราวที่ไม่มีวันหมดสิ้น คุณจำเป็นต้องดูดซึมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในสมอง ด้วยการอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านทุกวัน อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ซื้อหนังสือมาอ่าน หรือยืมจากห้องสมุดมาอ่าน หรือยืมเพื่อนยืมใครต่อใครที่คุณรู้จักและเขามีหนังสือและไม่รังเกียจที่จะให้คุณยืมไปอ่าน

อ้อ! ยืมแล้วอ่าน จบต้องส่งคืนเจ้าของด้วยนะ เรื่องนี้สำคัญจริง ๆ

ประโยชน์จากการอ่านนั้นเหลือจะคณานับ ทำให้คุณได้รู้แนวคิดของบุคคลต่าง ๆ เรียนรู้การใช้ลีลาสำนวนภาษาที่เหมาะกับงานเขียนแต่ละประเภท การวางโครงเรื่อง วิธีย่อหน้า เว้นวรรค การเน้นความสำคัญ วิธีรวบรวมความคิด วิธีนำเสนอให้น่าสนใจ การอ่านยังช่วยพัฒนาสมองให้รู้จักคิดมีเหตุผล ข้อมูลที่เก็บไว้ในสมองไม่มีวันสูญเปล่า เพราะในช่วงชีวิตคุณ ทุกข้อมูลจะถูกดึงออกมาใช้ทันทีเมื่อถึงคราวจำเป็นรวเร็วฉับไวยิ่งกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่กว่าจะค้นหาข้อมูลใดต้อเงสียเวลาพอประมาณ เสียพลังงานด้วย เพียงเท่านี้ คุณเห็นประโยชน์ของการอ่านแล้วใช่ไหม? เริ่มหาหนังสืออะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือ อ่านทันที อ่านแล้วก็อ่าน เก็บเป็นเสบียงไว้เขียนค่ะ
คุณต้องเป็นนักคิด

จินตนาการ สำคัญมากสำหรับการเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น เมื่อผสมผสานข้อเท็จจริง และฉีกแนวความคิดให้แตกออกไป ทำให้เรื่องนั้น ๆ น่าสนใจ น่าติดตาม ยิ่งผู้เขียนมีสำนวนโวหารดี อ่านเข้าใจซาบซึ้ง หรืออ่านแล้วต้องคิดตามต้องลุ้นระทึก กรณีเป็นเรื่องแนวลึกลับ สืบสวน สยองขวัญ อะไรเทือกนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า ผลสำเร็จไม่หนีไปไหน
ข้อเท็จจริง สำคัญมาก เมื่อเขียนเชิง ข่าว-สารคดี ต้องคิดหาวิธีนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ที่ยังไม่มีใครเขียน เพื่อให้เรื่องน่าสนใจ ไม่จืดชืด เป็นการเพิ่มความรู้ให้ผู้อ่านมากขึ้น ในเรื่องเดียวกันนั้น ที่ผู้อื่นเคยเขียนมาก่อน
การเขียนเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ ต้องรู้ข้อมูลลึกซึ้ง ตีปัญหาให้แตก วิจารณ์แล้วต้องเสนอแนะหรือชมเชย วิเคราะห์แล้วต้องมีเหตุผลที่ดีประกอบด้วยทุกครั้ง


ยังมีแนวการเขียนอีกหลายอย่าง และทุกแนวการเขียน จำเป็นต้องเตรียมข้อมูล ต้องคิดให้เห็นภาพในสมอง ยิ่งแนวนวนิยายทุกประเภท ถ้าคุณสามารถสร้างโครงเรื่อง ภาพการดำเนินเรื่องของตัวละครในความคิด สามารถทำให้คุณหัวเราะเมื่อตลก หรือน้ำตาซึมเมื่อเป็นเรื่องโศกสลด ให้รีบจดโครงเรื่องทุกตอนทันที เพื่อเขียนเสริมแต่งให้สมบูรณ์ เมื่อลงมือเขียนจริง เห็นความสำคัญของความคิดแล้วนะคะ จากนี้ไปทุกครั้งที่อ่านอะไรก็ตาม พยายามคิดตามเรื่องนั้น ๆ ด้วยว่า ผู้เขียนต้องการสื่ออะไร และถ้าคุณเขียนเรื่องนี้คุณจะเขียนอย่างไร ให้จบแบบไหน คุณต้องคิดแล้วก็คิด แต่ระวังอย่าคิดจนฟุ้งซ่าน เพราะความสับสน ฟุ้งซ่านจะทำลายความคิดของคุณ
คุณต้องมีหลากหลายมุมมองในเรื่องเดียวกัน

ชีวิตและสรรพสิ่งต่างมีหลายแง่มุม นักเขียนจึงต้องกวาดตามองให้กว้างไกล และทะลุถึงความเป็นจริง เพื่อเขียนเล่าเรื่องให้ผู้อ่านได้ความคิด ได้ความรู้ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นตามผู้เขียนด้วย เช่น

หยิบดอกกุหลาบสีชมพูขึ้นมา 1 ดอก คุณจะเขียนอะไร ทำไมดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า “กุหลาบ” หรือ ทำไมต้องมีหนาม หนามกุหลาบจะเปรียกับอะไรดี (คน สัตว์ สิ่ง ของ) และให้ประโยชน์ต่อดอกไม้นี้หรือไม่อย่างไร ถ้ากุหลาบไม่มีหนามจะรู้สึกอย่างไร ทั้งตัวดอกกุหลาบเอง มนุษย์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ หรือ กลิ่นหอมของดอกกุหลาบสายพันธุ์ต่าง ๆ จะเหมือนกันหรือไม่ เมื่อนำไปทำน้ำหอมให้ความรู้สึกดีหรือไม่ดี หรือใครนำกุหลาบดอกนี้มาปักในแจกันใบนี้ ซึ่งมีดอกไม้หลายชนิดชูช่อปะปนกัน แล้วดอกไม้เหล่านั้นคิดอย่างไรกัน ดอกกุหลาบสีชมพูดอกนี้
ทุกตัวอย่างที่ยกมา สามารถเขียนเป็นเรื่องราวได้สนุกสนาน หลากหลายรูปแบบ และดอกกุหลาบดอกนี้ยังนำมาผูกเป็นนิยายรักหวาน นำมาฉ่ำระหว่างดอกไม้ใบหญ้าด้วยกันเอง หรือเป็นเรื่องความรักหนุ่มสาว หรือเป็นเรื่องตลก หรือสร้างเป็นนิยายลึกลับ มาตกรรมซ่อนเงื่อน โดยมีกุหลาบดอกนี้เป็นพระเอก หรือ นางเอก หรือผู้ร้ายของเรื่อง หรือ.............
คุณพอเห็นหรือยังคะ แค่กุหลาบดอกเดียว ยังมีแง่มุมให้เขียนได้ร้อยแปดพันประการ ซึ่งล้วนน่าสนใจ น่าเขียน และนั่นย่อมหมายถึงว่า คุณต้องมีรายละเอียด ข้อมูล ข้อเท็จจริง จินตนาการ เพื่อนำมาเขียนในแง่มุม ที่คุณต้องการเขียนด้วย

คุณต้องฝึกการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องงดงาม

งานเขียนทุกชิ้น จะด้อยคุณค่าทันที ถ้าผู้เขียนใช้ภาษาไม่เหมาะสม คุณจึงต้องเรียนรู้ว่าภาษาแบบไหน ควรใช้กับใคร ถูกต้องตามกาลเวลา และกาละเทศะ อรรถรสของงานเขียน ขึ้นกับรายละเอียดของการใช้ภาษา การเรียนรู้วิธีใช้ภาษาที่ดีที่สุด คือ การอ่านมาก ๆ อ่านหนังสือหลาย ๆ ประเภท รวมไปถึงการฟัง อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้เกิดประสิทธิผลในชีวิตและในงานเขียน (โอกาสหน้า เราจะคุยกันเรื่อง “การฟัง” คุณสนใจไหมคะ ? )

คุณต้องอยากเป็นนักเขียนจริง ๆ
“ความอยาก” เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการกระทำอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อคุณอยากเป็นนักเขียน แค่อยากเฉย ๆ ไม่พอ ต้องอยากจริง ๆ อยากถึงขั้นว่า ทันทีที่เราคุยกันจบ คุณต้องหยิบกระดาษดินสอหรือปากกาก็ได้ แล้วลงมือเขียนทันที เขียนอะไรก็ได้ที่คุณอยากเขียน เขียนไปจนคุณรู้สึกว่า พอก่อน ไม่รู้จะเขียนอะไรอีกแล้ว นั่นแหละจึงหยุดเขียน นี่เป็นบันไดขั้นแรก ที่คุณจะก้าวไปสู่การเป็นนักเขียน ขั้นต่อไปสำคัญที่สุด พรุ่งนี้คุณต้องเขียนอีก มะรืนนี้เขียนอีก มะเลืองนี้เขียนอีก เขียนทุกวัน เขียนจนเป็นนิสัย ไม่นานเกินรอตำแหน่งนักเขียน จะถูกคุณยึดครองได้สำเร็จ
คุณต้องทุ่มเทจิตใจของคุณลงไปในความอยาก
มีคำพูดว่า “ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ” จริงล้านเปอร์เซนต์ เพราะคุณอาจชอบอ่านหนังสือ คุณอาจชอบคิด คุณอาจมีทัศนคติหลากหลายหลายมุมมอง คุณอาจเห็นคุณค่าของการใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง แต่คุณไม่อยากเป็นนักเขียน ก็จบกันแค่นั้น หรือคุณอยากเป็นนักเขียนแค่ในความคิดเท่านั้น แม้ความคิดนี้จะวนเวียนโลดแล่นหวือ ๆ อยู่ในสมอง แต่ใจของคุณสงบนิ่งเลยไม่สนองตอบความคิด ก็จบเห่อีกเหมือนกัน ฉันจึงยืนยันเด็ดขาดว่า คุณต้องทุ่มเทใจลงมาจริง ๆ บันไดนักเขียนจึงเริ่มทอดออกไปหาคุณ

อย่าเข้าใจผิดว่า นักเขียนคือ นักประพันธ์นิยาย อย่างเดียว เพราะงานเขียนมีลักษณะต่าง ๆ เช่น รายงานส่งอาจารย์สารคดี รายงานการประชุม เขียนตำรับรำรา งานแปลเรียบเรียง การเขียนคำสั่ง เป็นต้น คนเขียนเป็น มีความสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดี ทั้งภาษาเขียน และภาษาพูด

ฉันดีใจค่ะที่คุณอยากเป็นนักเขียน เพราะประโยชน์จากการเขียนเป็นจะช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เทคนิคการเขียนยังมีอีกมากวิธี ที่เราคุยกันใน “บ้านดีมีสุข” เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ฉันรู้ว่าวิชาการสอนให้เป็นนักเขียนนั้น ราคาแพงพอสมควร แต่ฉันยินดีแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ของฉันเท่าที่มีอยู่ และพร้อมช่วยขัดเกลา-แนะนำ-ติ-ชม งานเขียนของคุณให้ข้อคิดกับคุณอย่างชนิดหมดเปลือกความรู้ของฉัน ทุกอย่าง Free of charge (ขอทำโก้หน่อยนะคงไม่ว่ากัน)

ฉันเต็มใจรับใช้คุณ ไม่ต้องเกรงใจ ไม่มีกำหนดเวลาหรือเทอมการฝึกเขียน ฉันยินดีพูดคุยกับคุณกี่ครั้งก็ได้ กี่เดือนก็ได้ จนกว่าคุณจะพอใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นจริง ๆ มีแต่กำลังใจที่จะให้คุณ ถึงแม้จะมีเพียงคุณคนเดียว ฉันก็ยินดีต้อนรับคุณค่ะ โทรติดต่อนัดหมายล่วงหน้ามาได้ที่ คริสตจักรสามัคคีธรรมกรุงเทพ โทร.02-331-0861 ต่อ 101 และขอพบกันที่โบสถ์ในวันอาทิตย์นะคะ ขอทิ้งท้ายฝากคุณนิดหนึ่ง “เพียงแต่ยืนนิ่ง ไม่อาจไปถึงจุดหมายได้ เริ่มก้าวเท้าออกไปเมื่อไรจุดหมายใกล้เข้ามาทันที”

ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรค่ะ
ข้อคิดจากพระคัมภีร์
...ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งท่านจะสั่งภูเขานี้ว่า ‘จงเลื่อนจากที่นี่ไปที่โน่น’ มันก็จะเลื่อนไป สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งท่านทำไม่ได้ จะไม่มีเลย
(มัทธิว 17:20)
....เพราะว่าข้าแต่พระเจ้า สิ่งใดที่พระองค์ทรงอำนวยพระพรสิ่งนั้นก็ได้รับพระพรเป็นนิตย์
( 1 พงศาวดาร 17:27)

Visitor 71

 อ่านบทความย้อนหลัง