เหล็กลับเหล็ก
 
 
 
As Iron Sharpens iron.
 
 
 
 
ศจ. สมเกียรติ กิตติพงศ์
 
 
         ไม่นานมานี้ ผมนั่งจับหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “เหล็กลับเหล็ก” เขียนโดย โฮวาร์ด และวิลเลี่ยมเฮนดริกซ์    เป็นหนังสือที่พูดเรื่อง พี่เลี้ยงน้อง ตอนที่เห็นชื่อครั้งแรก ผมก็รู้ว่า ข้อความนี้เอามาจากหนังสือสุภาษิต 27:17 ที่ว่า “เหล็กลับเหล็กได้ คนหนึ่งก็ลับเพื่อนของตนได้” ผมนึกถึงมีดลับมีดของแม่ค้าขายหมูที่ตลาด ยังจำเสียงที่ค่อนข้างบาดหูตอนแม่ค้าลับมีดได้อย่างดี   เฮนดริกซ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า นี่คือแบบอย่างในพระคัมภีร์ อานานเนีย และบาระนาบัส สร้างเซาโล จนท่านถูกขนานนามใหม่ว่า เปาโล   เปาโลสร้าง ทิโมธี   ทิตัส คู่สามีภรรยา ปริสสิลลาและอาควิลลา   ทิตัสปั้นผู้นำที่เกาะครีท   ทิโมธีปั้นผู้นำที่เอเฟซัส   ส่วนปริสสิลลาและอาควิลลา ก็สร้างอปอลโล
 
           เรื่องคนสร้างคน คนมีอิทธิพลกับคน นี่เป็นหลักของพระเยซู   เมื่อพระเยซูทรงปั้นสาวก 12 คน พระองค์ไม่ได้ใช้วิธีบังคับ แต่เป็นแบบอย่าง สอนและให้สาวกทำตาม พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดใคร่ตามเรา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับแบกกางเขนของตน แบกและตามเรามา” (มัทธิว 16:24) คนที่จะเรียน ต้องเชื่อถือศรัทธาคนสอน และคนที่เรียนต้องอยากเรียน   การเรียนจากคนนี่   นับว่าเป็นวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าในชั้นเรียนเสียอีก
 
          วันนี้ผมจะเล่าเรื่องผู้นำคนหนึ่งที่ผมเรียนรู้ฝึกงาน ตอนผมไปเรียนพระคัมภีร์ที่โลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1974 คือ คุณคีท วอริงตัน
          หลักสูตรพระคัมภีร์ในสมัยนั้น เป็นวิชาการประกาศพระกิตติคุณ ( School of Evangelism)ของคณะวายแวม เป็นหลักสูตร 8 เดือน คือ เรียนพระคัมภีร์ในโรงเรียน 3 เดือน เดินทางไปทัศนศึกษาที่ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก 3  
เดือน ท้ายที่สุดคือฝึกงานอีก 2 เดือน ขณะที่เรียนอยู่ นักเรียนทุกคนต่างอธิษฐาน ขอการทรงนำว่า 2 เดือนสุดท้ายนั้น เราจะไปฝึกงานกันที่ไหน เพราะมีที่ให้เลือกไปหลายที่ เช่น ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เยอร์มัน เสปญ เดนมาร์ก โปแลนด์ และอังกฤษ ผมเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ต้องการการทรงนำว่าจะไปฝึกงานที่ไหนดี ตอนนั้นใจผมลิงโลด เพราะแต่ละประเทศมีให้เลือก ล้วนแต่ น่าไปเยือนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอังกฤษ เป็นเกาะในอุดมคติ ที่ผมคิดว่าคนไทยน่าจะได้ไปเยี่ยมเยือน แต่พระเจ้าก็นำผม ใผ้ผมเลือกไปฝึกงานที่เยอรมัน ซึ่งมีคีทเป็นผู้นำ พระเจ้าสอนผมว่าวิธีเรียนรู้งานรับใช้ดีที่สุดให้เลือก “คน” เลือก “ผู้นำ” ที่เราศรัทธา ไม่ใช่เลือก “สถานที่” ที่เราชอบ
 
            ผมรู้จักคีทได้อย่างไร
            ขอเล่าย้อนหลังไปสักหน่อย   ก่อนที่ผมจะออกเดินทางไปทัศนศึกษาที่ตะวันออกกลาง   พอดีคณะวายแวนตอนนั้นมีประชุมผู้นำที่โรงเรียนประมาณ 2 สัปดาห์   มีผู้นำจากวายแวมทั่วโลกมาร่วมประชุมร่วมร้อยคน คุณเดวิด คาวี ผู้นำจากเมืองไทยติดงานมาไม่ได้   อาจารย์ ลอเรน คันนิ่งแฮม ผู้อำนวยการวายแวม จึงขอร้องให้ผมอยู่ที่โรงเรียนต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์   ความรู้สึกอันแรกที่เกิดกับผมคือ ผมรู้สึกเสียดายที่ตนเองจะพลาดจากการไปกรุงโรม และโครินธ์ ร่วมกับเพื่อนนักเรียน แต่พระเจ้าก็สอนผมเรื่องการยอมฟังผู้นำ   ครับ ผมก็ยอมรับข้อเสนอของอาจารย์ลอเรน ด้วยความยินดี   นี่คือบทเรียนที่พระองค์ทรงสอนผมเป็นครั้งแรกว่า เรียนจาก ชีวิตคน ดีกว่าเรียนจากสถานที่   การยอมฟังผู้นำ เป็นประตูสู่พระพร ผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ว่า สองสัปดาห์ในประชุมผู้นำวายแวมผมได้รับพระพรอะไรบ้าง แต่ผมอยากบอกว่า มันเป็นฐานงานรับใช้หลายอย่างของผมมาจนถึงปัจจุบัน
 
            ผมเดินทางไปสมทบทัศนศึกษากับคีท วอริงตัน
            พอเสร็จสิ้นการประชุม มีสองคนเท่านั้น คือ คีท กับผม ที่จะต้องเดินทางจากโลซานไปสมทบกับเพื่อนนักศึกษาซึ่งอยู่ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ   คีทเข้ามาหาผม ถามว่า “สมเกียรติ เราจะเดินทางไปเอเธนส์โดยวิธีไหนดี จะไปโดยรถไฟ หรือเครื่องบิน” ผมบอกว่า “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน” “เอายังงี้ ให้เราอธิษฐานขอการทรงนำ” ผมคิดในใจ เราต้องอธิษฐานถามพระเจ้ากันแทบทุกเรื่องอย่างนี้หรือ เพราะธรรมดาผมนึกจะตัดสินใจอะไรเรื่องเล็กๆ ขนาดนี้ผมก็เลือกเลย แต่เอาละ อธิษฐานก่อนก็ดีเหมือนกัน หลังอธิษฐานเสร็จ เราก็เช็คใจเราทั้งสองว่าคิดอย่างไร คีทถามผมว่า “พระเจ้าตรัสว่ายังไง” ผมบอกว่า “น่าจะไปทางรถไฟ เพราะผมจะได้เห็นทิวทัศน์ของยุโรปด้วย” คีทเชื่อสิ่งที่ผมบอกหลังจากเราอธิษฐาน และบอกว่า “เขาก็คิดเหมือนกัน อยากให้ผมเห็นทิวทัศน์ 
สองข้างทางของรถไฟ”
    
           เราขึ้นรถไฟออกจากโลซานส์ สวิสเซอร์แลนด์ ผ่านตอนเหนือของอิตาลี ผ่านยูโกสลาเวีย สู่ประเทศกรีซ
       
     คีทชอบเป็นพยาน
            ตอนขึ้นรถไฟ มีเด็กหนุ่มเยอรมันคนหนึ่งหอบข้าวของพะรุงพะรัง   ผมไม่สนใจใครหรอก เพราะมัวพะวงแต่ตัวเองว่า ขึ้นรถไฟแล้วจะนั่งตรงไหน แต่คีทไปช่วยหิ้วกระเป๋าช่วยพ่อหนุ่มคนนั้น ทำให้เราได้มิตรเพิ่มมาคนหนึ่ง ตอนนั่งรถ คีทเป็นคนนิวซีแลนด์ แต่มาเป็นผู้นำวายแวมที่เมืองเฮอลอก ตอนใต้ของประเทศเยอรมัน คีทพูดภาษาเยอรมันได้ดี จึงเป็นพยานกับพ่อหนุ่มคนนั้น ผมนั่งเฝ้าดูคีทเป็นพยานด้วยนึกชมผู้นำคนนี้ในใจ “ช่างไม่ปล่อยเวลาให้ว่างเลยเชียวน่ะ” เพราะผมคิดเพียงแต่ว่า จะได้ตักตวงประสบการณ์ชีวิตในยุโรป ชมวิวสวยๆ สองข้างทางมากแค่ไหน ส่วนคีทสนใจว่าจะช่วยคนให้มารู้จักพระเจ้าได้อย่างไร เขาลับชีวิตผมอีกเรื่องแล้วซิ    ผมจำไม่ได้ว่าพ่อหนุ่มคนนั้นรับเชื่อหรือไม่ แต่ผมจำได้ว่าเขาฝังคีทเป็นพยานด้วยความตั้งใจ
 
 
           เราถูกกักตัวที่ชายแดนกรีซ
           รถไฟผ่านยูโกสลาเวีย เข้ามาถึงสถานีเล็กๆ ชายแดนประเทศกรีซ ตอนเช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสาร เขาเห็นหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์ของคีท เขาก็โอเคน่ะ แต่พอเขาเห็นหนังสือเดินทางไทยของผม และเห็นว่าไม่มีการประทับตราวีซ่าส์ ไว้เท่านั้นเอง ก็ได้เรื่อง คือเขาไม่ยอมให้ผมเดินทางต่อ คีทพยามยามอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่าเราเป็นนักเรียน ต้องการไปขึ้นเครื่องบินที่เอเธนส์ไปอิสราเอล เราแค่ผ่านประเทศเท่านั้น ไม่สำเร็จผมต้องหิ้วกระเป๋าเดินทางลงจากรถไฟอย่างฉุกละหุก คีทลงตามผมมาแทบไม่ทันจนต้องดึงโซ่สายสัญญาณให้รถไฟหยุด ผู้โดยสารชะโงกหน้าต่างมาดูเราทั้งสองแทบทั้งขบวน เช้าวันนั้นเป็นวันอีสเตอร์ สถานีที่ชายแดน เล็กและเงียบเหมือนสถานีเขาชุมทอง บ้านผม เช้าวันอีสเตอร์มีเจ้าหน้าที่เพียงคนสองคนอยู่สถานี ผมหันไปดูคีท ถามว่า “แล้วจะทำยังไงต่อ” ตามกำหนดการ เราจะต้องไปขึ้นเครื่องก่อนเครืองออกจากสนามบินกรุงเอเธนส์ตอนสิบโมงเช้า   เราเช็ครถไฟขบวนต่อไปที่ผ่านสถานีนี้ไปเอเธนส์ ปรากฏว่าจะมีขบวนเร็วที่สุดในตอนเย็น และรถไฟขบวนนี้ไปถึงกรุงเอเธนส์ประมาณสิบเอ็ดโมงเช้า อันเป็นเวลาที่เครื่องบินออกไปเรียบร้อยแล้ว ก็แปลว่า เราต้องตกเครื่องบินอย่างแน่นอน   ธรรมดาเวลาคนเราพบอุปสรรค เรามักหันมาสงสัยการทรงนำว่า “เอ นี่มันใช่การทรงนำหรือเปล่า” แต่คีทไม่มีแววของความสงสัยสักนิด ทั้งซ่อนความเป็นผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ บรรยากาศช่างเงียบเชียบ ไม่มีผู้คนที่สถานีเล็กๆแห่งนี้เลย เว้นแต่เราสองคน เขาชวนผมอธิษฐาน พออธิษฐานเสร็จ คีทก็บอกผมว่า “สมเกียรติ ผมไม่รู้น่ะว่า โดยวิธีใด แต่พระเจ้าจะให้เราไปขึ้นเครื่องที่เอเธนส์ พรุ่งนี้เช้าทันเวลา” ผมชอบความเชื่อของคีท ผมคิดว่าอายุของคีทกับผมน่าจะพอๆกัน แต่ผมก็ยอมรับว่า ในด้านความเชื่อ เขาเป็นพี่ของผมจริงๆ ผมเรียนรู้ว่า ในเวลาที่มืดมน อย่าให้เรามองดูสถานการณ์ และโวยวายตามสถานการณ์ภายนอก แต่ให้เรามองดูที่พระเจ้า และถือตามนั้น ผมต้องทำวีซาส์ที่นั่นคนเดียว 
 
            สงบใจในวิกฤติ    
           เราออกไปหาอาหารกินที่ร้านค้าเล็กๆใกล้สถานี ไม่มีอะไรให้เลือก มีสปาเก็ตตี รสชาติอิตาเลียนอย่างเดียว   ผมเรียนที่จะกินอาหารในยามที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสงบ แทนที่จะว้าวุ่นใจไม่เป็นอันกิน อาหารมื้อนั้นอร่อยดี    ในวันอีสเตอร์ การสื่อสารทางโทรศัพท์จากสถานีเล็กๆแห่งนี้สมัยนั้นแย่เต็มที คีทพยายามติดต่อไปยังทีมวายแวมที่เอเธนส์ ผู้นำวายแวมที่นั่นตัดสินใจขับรถยนต์ ขึ้นมารับเราระหว่างทาง ที่เมือง ลาริสา   คีทและผมลงจากรถไฟขบวนนั้นกลางดึก ผมจำไม่ได้ว่ามันกี่โมงกี่ยาม เราหอบกระเป๋าลงไปนั่งในรถเก๋ง แล้วรถยนต์ของเราก็วิ่งทำเวลาไปยังสนามบินเอเธนส์ เช้าตรู่วันจันทร์หลังอีสเตอร์ด้วยความตื่นเต้น   ผมไปถึงสนามบินประมาณ 9 โมงเช้า เพื่อนๆที่อธิษฐานเผื่อเราสองคนรอกันอยู่ที่นั่น เสียงไชโยโห่หิ้วดังลั่นสนามบิน คีทและผมได้เช็กอินขึ้นเครื่องพร้อมเพื่อนๆไปยังกรุงเทลอวีฟ
 
          เหล็กลับเหล็กได้ คนหนึ่งก็ลับเพื่อนของตนได้   คีทช่วยลับชีวิตผมอีกเรื่องหนึ่ง   ถ้าผมไม่ได้ยอมฟัง อาจารย์ ลอเรน คั่นนิงแฮม ที่ขอให้ผมเสียสละการเดินทางไปอิตาลี และโครินธ์ ผมก็คงได้ประสบการณ์ชมเมือง ชมกรุง โบราณสถาน และไม่ได้รับประสบการณ์เหล่านี้ที่ประเมินค่าไม่ได้   สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับพ่วงมาด้วยก็คือ การไม่ยอมฟัง ฝืนสิ่งที่ผู้นำขอร้อง   อาจารย์ ลอเรน คันนิ่งแฮม ย่อมบังคับผมไมได้ เพราะผมคงอ้างสิทธิว่าผมจ่ายเงินค่าเดินทางแล้ว   ผมขอบคุณพระเจ้าที่ทรงสอนผมในเรื่องนี้ ถ้าผมไม่ยอมฟังคราวนั้น ผมคงไม่รู้จัก คีท วอริงตัน และคงไม่มีประสบการณ์รอดพ้นจากการตกเครื่องบิน ที่ประเมินค่าไม่ได้อีก ผมได้เรียนหลายอย่างมากจากคีทที่หาเรียนจากชั้นเรียนไม่ได้
 
         เรากำลังสร้างสาวก (G) พ่อแม่ปั้นลูก พี่ปั้นน้อง ผมพูดกับพี่น้องทั้งหลายว่า เราควรเรียนการเชื่อฟัง   ความกล้าหาญ เสียสละ วางใจ สงบในยามพบวิกฤติ อธิษฐานในวาระที่มืดมน เรียนฟังพระสุรเสียง เรียนให้เกียรติคนอื่น แม้เป็นน้องฝ่ายวิญญาณของเรา   เรียนความอดทนเข้มแข็ง และเราเรียนได้มากที่สุดจากพี่ฝ่ายวิญญาณ
         
 
            ผมจบไว้แค่นี้ก่อน ไว้คุยต่อฉบับหน้า
     
            ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ
 
 

 




 





Visitor 333

 อ่านบทความย้อนหลัง