วิลเลี่ยม แครีย์ มิชชั่นนารีไปอินเดีย

โดย ศบ.

 

        ผมสนใจประวัติของมิชชั่นนารี ท่านนี้เพราะท่านเป็นมิชชั่นนารี  ที่มีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า นำพระกิตติคุณไปสู่ประเทศอินเดีย ประเทศที่มีลัทธิและศาสนามากมาย  ท่านต้องประสบอุปสรรครอบด้าน แต่ท่านก็ได้รับชัยชนะในที่สุด

       วิลเลียม แครีย์นั้นได้ถูกเรียกว่า “บิดาแห่งพันธกิจในโลกสมัยใหม่”( Father of Modern Missions)   แครีย์  เป็นลูกของช่างทอผ้า ที่หมู่บ้าน “พอเลอสเปอรี”  ในเมืองนอร์ท แอมตันไชร์   ประเทศอังกฤษ  เอดมันด์ คุณพ่อ และ เอลิซาเบ็ธ คุณแม่ของแครี่ย์ มีลูกทั้งหมด 5 คน  แครีย์  เป็นบุตรหัวปี  เกิดเมื่อปี 1761  ตอนที่แครีอายุ 6 ขวบ คุณพ่อเอดมันด์ ได้รับเลือกให้เป็นเสมียนของโบสถ์  และเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในหมู่บ้าน  ตั้งแต่เป็นเด็ก  แครีย์สนใจธรรมชาติ  โดยเฉพาะ วิชาพฤษศาสตร์  มีคุณพ่อเป็นคนสอน   เขามีทักษะในการใช้ภาษา  เขาศึกษาภาษาละตินด้วยตนเอง   แครีย์ชอบวิชา วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ ประวัติศสาตร์  และโปรดหนังสือเรื่องการเดินทางมาก  ตั้งแต่เด็ก  ถ้าเขาตั้งใจทำอะไรแล้ว  เขาจะมุ่งมั่นทำจนประสบความสำเร็จ  ไม่ได้ไม่เลิก ว่างั้นเถอะ

 

       ตอนแครีย์มีอายุ 14 ปี  คุณพ่อพาเขาไปฝากทำรองเท้ากับร้านซ่อมรองเท้าใกล้บ้าน  เจ้าของร้านชื่อ คลาก นิโคส์  ท่านเป็นคนที่ช่วยงานคริสตจักร เหมือนกับคุณพ่อ   แครีย์คุ้นเคยกับท่าน จึงย้ายจากคริสตจักรของอังฤษ  มาร่วมประชุมที่คริสตจักรเล็ก ๆ ที่เดียวกับนิโคส์  ที่นี่เอง  เป็นที่ที่แครีย์ได้พบกับนักวิชาการ นักคิด นักเขียน กวี หลายคน  เมื่อนิโคส์เสียชีวิต ในปี 1779  แครีย์  ทำงานร้านซ่อมรองเท้าของ โทมัส โอลด์  ต่อมา ต่อมามีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ  เขาก็เที่ยวเตร่ไปกับเพื่อนฝูง ใช้ชีวิตสำเริงสำราญ  แต่ไม่นานเขาก็มารู้จักพระเจ้าอย่างจริงจัง  แครีย์สนใจพระคัมภีร์มาก  เขาซ่อมรองเท้าไปด้วย ศึกษาพระคำไปด้วย

       แครีย์แต่งงานกับ โดโรธี  น้องสะใภ้ของ โอลด์  ในปี 1781 ที่เมืองพิดดิงตัน  โดโรธี  เป็นคนไม่รู้หนังสือ  วันแต่งงาน  เธอเซ็นชื่อได้แค่ ขีดเส้นสองเส้น เป็นรูปไม้กางเขนเท่านั้น  แครีย์คุยกับโดโรธีเรื่องวิชาการไม่ได้  แต่เขาก็ปฏิบัติกับเธอด้วยความอ่อนโยนเสมอมา  ทั้งสองมีบุตรด้วยกันถึง 7 คน  เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 2 คน  แต่ ลูกหญิงเสียชีวิตตั้งแต่คลอดทั้ง2 คน ส่วนลูกชายก็เสียชีวิต ไปคนหนึ่งเมื่อเขามีอายุ 5 ขวบ  เมื่อโอลด์เสียชีวิต  แครีย์ก็ดำเนินงานร้านซ่อมรองเท้าต่อมา ชีวิตของแครีย์ผกผันไปมาก  เขาเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียนตอนเย็น 

 

       แค่รีย์  ได้เข้ามาคลุกคลีกับผู้นำคริสตจักรหลายคน  จอห์น เรย์แลนด์  เป็นผู้ให้บัพติสมาแก่เขาใน วันที่ 5 ตุลาคม 1783  ในคริสตจักรแบบติสท์ เขาได้รับเชิญให้เทศนา ที่คริสตจักร ในหมู่บ้าน เอิลส์  บาร์ตัน  เมื่อเขาเทศนา คนจะชอบฟังเขามาก ในปี 1785  แครีส์ได้รับงานเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในหมู่บ้านมอลตัน  และเป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรแบบติสท์ในหมู่บ้านด้วย  ขณะศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง  เขาสนใจการประกาศพระกิตติคุณไปยังโลกกว้างอย่างมาก

        ได้มีการโต้แย้งเกิดขึ้นในที่ประชุม จอห์น เรย์แลนด์  ลุกขึ้นพูดว่า 

        “นี่พ่อหนุ่ม นั่งลง เมื่อพระเจ้าพอพระทัยช่วยใครให้รับความรอด พระองค์จะทรงทำการของพระองค์โดยไม่ต้องอาศัยเธอและผมหรอก” 

      แครีย์แย้งว่า  “ถ้าพระกิตติคุณเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนในโลก  เป็นความรับผิดชอบของคริสเตียนทั้งหลาย  ให้เราประกาศพระกิตติคุณไปทั่วโลก” ปี 1989  แครีย์  ได้เป็นศิษยาภิบาลเต็มเวลาที่ คริสตจักรแบบติสท์ ฮาร์เวย์ เลน  ในเมืองไลเซสเตอร์  ท่านได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง  ชื่อว่า “การไต่สวน”(An Inquiry)   ที่ผมเรียกว่า “ขอถามสักหน่อย”  มีเนื้อความว่า คนที่ยังไม่รู้จักพระเจ้านั้น เป็นความรับผิดชอบของใคร โดยอ้างถึงพระมหาบัญชา ในมัทธิว 28:18-20  เป็นหนังสือที่มีพลังมาก 

 

       ถ้อยคำที่ถูกนำมากล่าวถึงเสมอของท่านคือ  “จงคาดหวังสิ่งยิ่งใหญ่จากพระเจ้า  และจงพยายามทำการยิ่งใหญ่เพื่อพระองค์” ในที่สุดความพยายามของเขาประสบชัยชนะ  สมาคมพันธกิจแบบติสท์ (Baptist Missionary  Society) ได้ถูกสถาปนาขึ้นในเดือนตุลาคม 1792   ช่วงนั้นประเทศอินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หมอ จอห์น ทอมัส ได้ไปรักษาคนไข้ที่เมืองกัลกัตตา  ได้กลับมาอังกฤษเพื่อหาทุน  สมาคมนี้เห็นชอบด้วย  คราวนี้เอง แครีย์ได้ร่วมเดินทางไปประเทศอินเดีย

 

          แครีย์ เดินทางไปถึงเมืองกัลกัตตา  ประเทศอินเดีย วันที่ 11 พฤศจิกายน  1793  พร้อมกับพวกลูกๆ และภรรยา ซึ่งครั้งแรกปฏิเสธที่จะร่วมเดินทางไปด้วย  เพราะเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4  แต่เธอก็มั่นใจขึ้นเมื่อมี คิทตี้  น้องสาว  ผู้ขันอาสาว่าจะเป็นผู้ทำคลอดให้  

          ในปีแรกที่กัลกัตตา แครีย์ตั้งใจอยู่ในประเทศอินเดียด้วยการเลี้ยงตนเอง  และตั้งงานพันธกิจขึ้น ท่านเรียนภาษาเบนกาลี  ตอนนั้น มีโรงงาน 2 แห่งที่เมือง มิดนาพอร์ ตอนเหนือของกรุงกัลกัตตา ต้องการผู้จัดการ  แครีย์จึงเข้าไปรับงานนั้นเพื่อจะมีรายได้   6 ปีที่ท่านทำงานในโรงงาน  ท่านได้ทุ่มเทใช้เวลา แปลพระคัมภีร์ใหม่เป็นภาษาเบนกาลีทั้งเล่ม  ปี 1796  ปีเตอร์ลูกชายซึ่งมีอายุ 5 ขวบเสียชีวิตลงเนื่องจากโรคท้องร่วง ซึ่งเป็นเหตุให้โดโรธี ภรรยาของท่านตึงเครียดมาก นับเป็นพายุที่เข้ามาผจญครอบครัวของท่านอย่างแท้จริง

          ในช่วงนั้น เป็นเวลาที่มิชชั่นนารีเดินทางมาสมทบ เช่น จอห์น ฟาวเทน  โยชัวร์ มารทส์แมน ทั้งสองมาเป็นครูสอนในโรงเรียน  ส่วน วิลเลียม วอร์ด เป็นช่างพิมพ์  การเทศนาประกาศพระกิตติคุณของท่าน ไม่ได้รับการสนองมากนัก ปี 1796 ท่านได้นำชาวปอตุเกต ให้เขารับบัพติสมา 1 คน ในปี 1800 ที่เมืองเสราพอร์  ท่านถึงได้นำชาวอินเดียที่พูดภาษาเบนกาลี คนแรกมารับเชื่อพระเยซู และให้เขารับบัพติสมาในวันที่ 10  ธันวาคม 1800  คือนาย กฤษณา ปัล นี่คือผลแรกหลังจากที่ท่านเดินทางเข้ามายังประเทศอินเดียนานถึง 7 ปี นับเป็นความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง ท่านไม่เคยลดละ ท่านแปลพระคัมภีร์ใหม่เป็นภาษาเบนกาลี พิมพ์

 

     และเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 7 เดือนกุมภาพันธ์  1801 โดยการช่วยเหลือของ วิลเลี่ยม วอร์ด จากนั้นท่านจึงเดินหน้าแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤษอีก  ในปี 1807  โดโรธี ภรรยาของท่านคลอดลูกคนสุดท้อง คือ จิม แครีย์  และเธอจากไปอยู่กับพระเจ้าในปีนั้น  นับเป็นพายุชีวิตที่โหมกระหน่ำมาอย่างหนักหน่วง ท่านบรรยายความรู้สึกว่า “นี่คือหุบเขาเงามัจจุราชจริงๆสำหรับผม  แต่ผมก็ยืนยินดีอยู่ได้  เพราะพระเจ้าทรงประทับเคียงข้าง”

         ปี 1808  แครีย์  แต่งงานใหม่กับ ชาร์ลอทท์ รูมอร์  ชาวเดนมาร์ก  ทั้งสองอยู่กินด้วยกัน 13 ปี  ก่อนที่เธอจะจากไป

        ในวันที่ 11 มีนาคม 1812  โรงพิมพ์ที่พิมพ์พระคัมภีร์ถูกเผา ไฟไหม้ ทำให้เสียหายถึง 10,000 ปอนด์  ทำให้งานเขียนหลายชิ้นเสียไป  รวมทั้งพจนานุกรมแปลอังกฤษเป็นภาษาสันสกฤตด้วย  แต่ต้องขอบคุณพระเจ้าที่เครื่องพิมพ์มิได้เสียหาย  สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้ภายในเวลา 6 เดือน  ท่านก็มิได้ท้อถอย  ลุกขึ้นสู้ต่อไป  

         เหมือนกับคำพูดของท่านที่กล่าวมาตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากประเทศอังกฤษ “จงคาดหวังสิ่งยิ่งใหญ่จากพระเจ้า” ท่านได้แปลพระคัมภีร์ ในช่วง 28 ปีต่อมา เป็นภาษาหลักของอินเดีย  คือ  ภาษาเบนกาลี  โอริยา  ฮินดี อัสสัม และสันสกฤต และบางตอนเป็นภาษาย่อยๆ ออกไปอีก 209 ภาษา

 

         แครีย์พยายามสอนชาวอินเดีย  ให้เลิกจากการฆ่าทารก  แม่ม่าย ตามลัทธิ ซาททิ (Sati) ของชาวฮินดู ที่เชื่อถือกันว่าเมื่อสามีตายจากไป เพื่อเป็นเกียรติ ภรรยาสมควรตายตามไปด้วย ท่านได้ร่วมกับ โจชัวร์ มาร์ทแมน ก่อตั้งวิทยาลัยเสแรมพอร์ขึ้น  ในปี 1818 เป็นโรงเรียนสอนพระคัมภีร์   ซึ่งทุกวันนี้มีนักศึกษาถึง 2,500 คน  ทั้งได้ก่อตั้ง สมาคมเกษตร และการปลูกพืชเรือนกระจก ขึ้นในปี 1820

         แครีย์ จากไปอยู่กับพระเจ้า ที่เมือง เสแรมพอร์ ในวันที่ 9 เดือนมิถุนายน  1834    อ้อ ลืมบอกไป  หลังจากที่ ชาร์ลอทท์ ภรรยาคนที่สองของท่านจากไปในปี 1821  แครีย์ ได้สมรสกับ  เกรซ ฮิวท์ ในปี 1823 และฮิวท์ จากไปหลังจากแครีย์  1 ปี

 

         ตอนที่ แครีย์เสียชีวิต ท่านได้ใช้ชีวิต 41 ปีในประเทศอินเดีย  โดยไม่ได้เดินทางกลับไปพักผ่อนในประเทศอังกฤษเลย   ท่านได้นำชาวอินเดียมาต้อนรับพระเยซูประมาณ 700 คน  ท่านได้วางรากฐานการแปลพระคัมภีร์ภาษาของชาวอินเดียได้วางรากคริสเตียนศึกษา และการปฏิรูปสังคม อย่างน่าทึ่งที่สุด  ยิ่งกว่านั้นท่าน  คือผู้กระตุ้น ให้อะโดนิแรม จัสสัน เดินทางมาเป็นมิชชั่นนารีที่พม่า  ฮัดสัน เทเลอร์ มานังประเทศจีน เดวิด ลิฟวิ่งสโตน มายังอัฟริกา และอีกหลายๆท่านที่เดินทางมาเป็นมิชชั่นนารีในเวลาต่อมา

วิลเลี่ยม แครีย์ เป็นตัวอย่างผู้รับใช้หลายอย่าง

1. ความยากจน อาชีพต่ำต้อยของสังคม เช่น ช่างซ่อมรองเท้า  มิได้เป็นอุปสรรคในการมอบตัวให้พระเจ้าใช้

2. การพบพระเจ้าเป็นส่วนตัว  บังเกิดใหม่  เป็นพลังสำคัญที่สุดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

3. อย่าเกี่ยงการเริ่มรับใช้  ในท้องที่ ชุมนุมชน หมู่บ้าน หรือถิ่นที่อยู่ของตน อย่างเรียบง่าย

4. จงรัก และรับผิดชอบครอบครัวของตนอย่างดีที่สุด

5. เหมือนดังแครีย์กล่าว หากพระเจ้ามีพระประสงค์ให้ทุกคนรับความรอด ย่อมแปลว่าคริสเตียนคือผู้รับผิดชอบในการถ่ายทอดพระกิตติคุณ

6. เมื่อทำอะไร  จงมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ  แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม

7. “จงคาดหวังสิ่งยิ่งใหญ่จากพระเจ้า  และจงพยายามทำการยิ่งใหญ่เพื่อพระองค์”

8. อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรค  ตระหนักว่า พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้าง

9. เมื่อตั้งใจ จงลงมือทำจริง

10.จงใช้ตะลันต์  หรือของประทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในงานรับใช้ดีที่สุด











Visitor 699

 อ่านบทความย้อนหลัง