เราต่างเล่นในสนามเดียวกัน (2)

ศบ.

 

สัปดาห์ที่แล้ว  ผมพูดเรื่องนี้ค้างไว้  วันนี้ขอพูดต่อน่ะครับ

 

            เราต่างเป็นปุโรหิตด้วยกันทุกคน

 

            ในสมัยพระคัมภีร์เดิม  คนอิสราเอลมี 12 เผ่า มีเผ่า (1)ยูดาห์  (2)สิเมโอน (3)รูเบน (4)เบนยามิน (5)ยูดาห์  (6)ดาน (7) เอฟราฮิม (8) กาด (9) มนัสเสห์ (10) อิสสาคาร์ (11) นัฟฟทาลี (12) อาเชอร์  แต่มีอีกเผ่าหนึ่ง  คือเผ่าเลวี  เลวีไม่มีที่ดิน แต่เป็นเผ่าที่ได้รับการเลี้ยงดูจาก  เผ่าต่างๆ  ปุโรหิตทั้งหลายและมหาปุโรหิตผู้ปฏิบัติพระเจ้าในพลับพลา  หรือพระวิหาร( กันดารวิถี 1:2-54) จะต้องเป็นคนที่เกิดจากเผ่าเลวี เท่านั้น  คนในตระกูลอื่นไปทำหน้าที่นี้ไม่ได้   เวลาใครก็ตามที่ต้องการไถ่โทษบาป  เขาจะต้องคัดลูกแกะที่ไม่มีตำหนิไปมอบให้ปุโรหิต ให้ปุโรหิตช่วยทำหน้าที่ทูลขอการไถ่บาปแทนพวกเขา  เรื่องนี้เป็นภาพให้คนในสมัยนั้นเห็นว่า วันหนึ่ง มหาปุโรหิตใหญ่ตัวจริง  คือพระเยซู  จะเสด็จมา  พระองค์ไม่ได้เข้าไปทำพิธีไถ่โทษในพลับพลาหรือพระวิหารที่เยรูซาเล็ม  แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เองเข้าไปสู่ฟ้าสวรรค์ ให้ผู้เชื่อทั้งหลายได้รับการอภัยโทษทั่วกัน (ฮีบรู 4:14-5:10)  พระเยซูถูกเรียกว่าเป็น “มหาปุโรหิตแห่งพันธสัญญาใหม่” ในขณะที่ระบบตามพันธสัญญาเดิมถูกยกเลิกไป (ฮีบรู 7:1-8:13)   


                            

 

ธรรมดา  ปุโรหิต  ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ระหว่างประชาชนกับพระเจ้า   เมื่อพระเจ้าต้องการตรัสสิ่งใดกับประชาชน  ก็ตรัสผ่านปุโรหิต  เมื่อใดที่ประชาชนทำบาป  จะขอการอภัยโทษก็อาศัย คนกลางคือปุโรหิต  อย่างที่ผมพูดในสูจิบัตรฉบับที่แล้ว  ในคริสตจักรมักแบ่งแยกคนออกเป็นสองพวก  พวกหนึ่งคือ “พระ” ส่วนอีกพวก คือ “ฆราวาส” พระเป็นคนกลางให้ฆราวาสทั้งหลาย   ระบบนี้เป็นระบบที่เลียนแบบพระคัมภีร์เดิม   ครั้นพระเยซูเสด็จมาวายพระชนม์ที่ไม้กางเขน  พระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ทำให้เราได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า  โดยพระโลหิตของพระองค์  พระองค์จึงเป็น “ผู้กลาง”  แต่ผู้เดียวเท่านั้น  ไม่ต้องมี “คนกลาง”แทนใครอีกเว้นไว้แต่พระเยซู (ฮีบรู 9:15; 10:12-14)  

 

                                            

 

นั่นแปลว่า อะไร แปลว่า คริสเตียนแต่ละคน  สามารถเข้ามากราบทูลพระเจ้าได้  ทูลขอการอภัยโทษได้  ปรนนิบัติพระเจ้าได้         ฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าได้  รับใช้พระเจ้าได้โดยตรง ( ฮีบรู 10:19-25) นี่เป็นเหตุผลที่เปโตร กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายก็เป็นเสมือนศิลาที่มีชีวิต ที่กำลังก่อขึ้นเป็นพระนิเวศฝ่ายพระวิญญาณ เป็นปุโรหิตบริสุทธิ์ เพื่อถวายสักการะฝ่ายพระวิญญาณ ที่ชอบพระทัยพระเจ้า โดยทางพระเยซูคริสต์” (1 เปโตร 2:5) ข้อ 9 กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายเป็นชนชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศพระบารมีของพระองค์” 

                

                 ทำไมคริสตจักรรุ่นแรกขยายรวดเร็ว

 

                 คริสตจักร ในสมัยแรกขยายไปในโลกรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนอย่างรวดเร็ว  ก็เพราะคริสเตียนทุกคนลุกขึ้นทำงาน  การขยายไม่ได้เกิดจาก  อัครทูต  แต่เกิดจาก สาวกทั้งหลายกระจัดกระจายกันออกไป พวกเขาไปที่ไหนก็เผยแพร่พระกิตติคุณที่นั่น ( กิจการ  2:46-47; 8:4; 11; 19) พวกเขาไม่ยึดติดอยู่กับ การที่ตนอยู่ในตระกูลเลวี อีกต่อไป เรียกว่า “กองทัพสาวกสามัญ” นี่แหละที่ขยายพระราชกิจ แม้ว่าอาจารย์ เปาโล ถูกส่งอออกไปเป็นมิชชั่นนารี ปลูกคริสตจักร ในแคว้นกาลาเทีย มาซิโดเนีย อาคายะ และเอเชียก็จริง  แต่ท่านไปที่ไหน ท่านก็แต่งตั้งผู้ปกครอง และมอบหมายให้ผู้เชื่อที่นั่นขยายงานกันต่อไป  คริสตจักรเป็นที่สำหรับฝึกฝนรับใช้พระเจ้า ในการนมัสการ สร้างสาวก สอนพระคัมภีร์ สำแดงความเมตตา  และประกาศพระกิตติคุณ 

 

           ประวัติศาสตร์คริสตจักรสอนเรา

 

           หากเราดูประวัติศาสตร์คริสตจักร  เราจะพบว่า  ช่องว่างระหว่าง “ผู้รับใช้เต็มเวลา”หรือ “พระ” (Clergy) และ”ฆราวาส”(Laity) เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังคริสตจักรยุคแรก ประมาณ 300 ปี  และช่องว่างนี้ยิ่งเกิดหนักขึ้นเมื่อผู้รับใช้เต็มเวลา นับตัวเองว่า ตนอยู่สูงกว่าคริสเตียนคนอื่น  อีกด้านหนึ่ง ผู้ที่เป็นฆราวาสก็ยอมรับความคิดนี้  ทั้งพึงพอใจยกงานรับใช้ทั้งหลายให้ “พระ” เป็นคนทำงานแทนตน “ให้ผู้รับใช้เป็นคนทำงาน” 

 

           ผลที่ตามก็คือ คนที่สอน ประกาศ สร้างสาวก  นำนมัสการ เป็นพยาน  ตกอยู่ในมือของ “ผู้รับใช้” ส่วนฆราวาสก็ทำหน้าที่ถวายเงิน ว่าจ้างให้ผู้รับใช้ ทำงาน เมื่อ มาร์ติน ลูเธอร์  ชาวเยอรมัน ปฏิรูปคริสตศาสนา ในปี 1543  ท่านกล่าวว่า “คริสเตียนทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะเราต่างรับบัพติสมา  


                                  

 

เชื่อในพระกิตติคุณเหมือนกัน” ลูเธอร์  ชี้ให้เห็นว่า  “ถ้าไม่มี ผู้รับใช้อยู่ที่นั่น  คริสตจักรควรเลือกใครสักคนหนึ่ง  ทูลขอการอภัยโทษ ให้บัพติสมา  นำนมัสการ และเทศนา  บุคคลผู้ที่ถูกเลือกเพื่องานนี้  ควรนับว่าเขาเป็นของแท้ เท่าเทียมกับคนเหล่านั้นที่ได้รับการสถาปนาโดยศาสนาจารย์” การปฏิรูปศาสนา  สอนว่า  ผู้เชื่อทุกคนต่างเป็นปุโรหิต  นับเป็นก้าวที่ดีอันหนึ่งที่ทำให้คริสตจักร และแผ่นดินของพระเจ้าเพิ่มพูน ออส การ์ เฟรชท์  ในหนังสือ “ทุกๆ คนต่างเป็นผู้รับใช้” ชี้ให้เห็นว่า  การเป็นปุโรหิตของผู้เชื่อทั้งหลาย เป็นความหวังสูงที่สุดอันเดียว  ที่จะทำให้พระมหาบัญชาประสบความสำเร็จ         

               

           มีวิธีการของพระเยซู

           พระเยซูใช้คนสามัญสร้างสาวก

 

           เมื่อพระองค์ต้องการขยายพระราชกิจ  พระเยซูทรงเลือกศิษย์ 12 คนจากคนสามัญ พระองค์ใช้เวลาประมาณ 3 ปี สั่งสอนพวกเขา  พระองค์ทรงเทศนา เลี้ยงคน 5000 คน รักษาโรค สอนในธรรมศาลา มีหลายคนเป็นสาวกของพระองค์  แต่พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนมากกับ สาวก 12 คน วันที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทรงมีพระมหาบัญชาให้พวกเขาออกไปประกาศ   นำคนในโลกนี้มาหาพระเจ้า  การขยายตัวเกิดจากพวกเขา “เป็นสาวก เพื่อสร้างสาวก” พระราชกิจจึงจะโตทวีคูณ  เค้น ฮันเตอร์  ในหนังสือ รากฐานการเพิ่มพูนคริสตจักร  กล่าวว่า “คริสเตียนทุกคนรับผิดชอบ พัฒนางานรับใช้ในฐานะเป็นปุโรหิต  คริสเตียนทุกคนควรค้นให้พบว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งใดในพระกายพระคริสต์และทำงานหน้าที่นั้นในพระกายที่พระเจ้าทรงเรียกเขา  แต่ถ้าเพียงแค่นั้น แผ่นดินของพระเจ้าก็จะเติบโตแบบบวก(Addition)เท่านั้น  วิธีของพระเจ้าก็คือ


                         

 

คริสเตียนทุกคนสร้างสาวก และคริสตจักรจะเพิ่มพูนแบบทวีคูณ(Multiplication)”  

 

              มีศูนย์ฝึกอบรมผู้รับใช้ทำไม?

 

             ผมไม่ได้คัดค้านโรงเรียนสอนพระคัมภีร์  ตรงกันข้าม โรงเรียนสอนพระคัมภีร์ช่วยงานได้มาก คริสตจักรของเราก็เปิดศูนย์ฝึกอบรมผู้รับใช้  แต่นักศึกษาที่จบจากโรงเรียนพระคริสตธรรมไม่ได้ เรียนจบเพื่อไปทำงานแทน  คริสตสมาชิกทั้งหลาย  เขาควรเป็นคนที่กระตุ้น หรือเป็นคนที่ช่วย “เตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้” (เอเฟซัส 4:12) ในงานพันธกิจของเรา ผมสนับสนุนให้ท่านที่กำลังรับใช้อยู่ มาเสริมความรู้ความเข้าใจที่ศูนย์ฝึกฯ เพื่อจะรับใช้ต่อไปได้ดียิ่งขึ้น แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่เขาจะวางตัวเป็นใหญ่เหนือสมาชิก  และไปทำงานแทนสมาชิก ตรงกันข้าม เขาควรหนุนใจให้ทุกคนร่วมกันทำงาน  

 

             ความเข้าใจผิดเรื่อง “พระ และฆราวาส” (Priest and Layman ) ยับยั้งการเพิ่มพูนคริสตจักรอย่างไร

 

              ผมจะอธิบาย  

 

             ธรรมดาคนที่เป็น “นักเทศน์” หรือเป็น “พระ” เมื่อแยกออกมาจากงานอาชีพ มาอยู่กับพระคำ  ก็จะมาอยู่กับโบสถ์ หรืออาวาส  ซึ่งก็มีความจำเป็นสำหรับงานรับใช้ที่เป็นครูฝึก เช่น อัครทูต ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ ศิษยาภิบาล หรือ ครู   อบรมเตรียมธรรมิกชนให้รับใช้ ( กิจการ 6:4,  เอเฟซัส 4:11-12)  ก็จะเป็นคนที่อยู่ห่างจากสังคมโลกโดยปริยาย  เหมือนผมในปัจจุบัน  ในแต่ละสัปดาห์  ก็จะอยู่ในแวดวงของผู้เชื่อเสีย 

 

                     

 

เป็นส่วนใหญ่   ถ้าจะพบกับคนภายนอกก็จะพบกันเป็นครั้งคราว  ในรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นทางการ  เช่น  บนเวทีประกาศ  หรือในการนัดแนะ เป็นต้น  ส่วนสมาชิกที่เป็นฆราวาส   คือคนที่ทำงานอาชีพในสังคม เหมือนผมสมัยทำงานเป็นผู้แทนขายยาของบริษัท  เราจะอยู่ใกล้ชิดเพื่อนในโรงงาน  พนักงานของบริษัท เพื่อนนักเรียนในชั้น ในมหาวิทยาลัย เพื่อนบ้านในหมู่บ้าน  ในตลาด ร้านค้า พี่น้องที่เป็นฆราวาสพบกับเพื่อนๆในสังคม  อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด  เราพบกันเป็นประจำแทบทุกวัน  จนเกิดเป็นความรู้จักมักคุ้น สนิทสนม ได้มีโอกาสสำแดงชีวิต ฉายแสง  สำแดงความเป็นคริสเตียนให้คนข้างเคียงเห็น  จนเขาอยากจะถามว่า “ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด” (1 เปโตร 3:15) 


                        

 

           แต่ความคิดว่า  “ฆราวาส”ไม่ใช่คนที่จะเป็นพยาน หรือเผยแพร่พระกิตติคุณ  ผู้เผยแพร่กิตติคุณ ควรเป็น “พระ” ซึ่งอยู่ที่อาวาส   หรือผู้รับใช้เต็มเวลาที่อยู่ที่โบสถ์  ฆราวาสจึงปิดปากตัวเอง  เพราะถือว่านี่ไม่ใช่งานของตน  งานของตนคือทำเงิน  แล้วค่อยเอาเงินที่ได้ไปถวายสิบลด ว่าจ้าง “พระ”ให้ไปมาสอน หรือเป็นพยานกับคนพวกนี้  ตลกแท้ๆ  และถ้า ผู้รับใช้เต็มเวลา (ที่จบจากโรงเรียนพระคัมภีร์) จะคิดทำนองเดียวกันด้วย  คือปรามฆราวาสว่า  ห้ามเป็นพยานเพราะพวกเขามีภูมิรู้น้อย  รอให้ตน  ผู้มีภูมิความรู้ไปแสดงธรรมเทศนา เอง  คิดอย่างนี้ด้วยแล้ว การรับใช้ในคริสตจักรก็จะเป็นระบบผิดฝาผิดตัว  คนที่ควรเป็นพยานกลับปิดปากเงียบ  ส่วนคนที่ฐานะด้านสังคมไม่เอื้ออำนวย  เพราะไม่ได้สร้างสัมพันธภาพกับใครมาก่อน  กลับเป็นที่คาดหวังว่าจะต้องเป็นพยาน  แล้วคริสตจักรจะเพิ่มพูนได้อย่างไร  ผมถือว่าระบบนี้เป็นกลอุบายของมารโดยแท้  อย่าให้เราหลงกลมาร  เราทุกคนคือผู้รับใช้  เราคือผู้เล่นในสนาม


                                   

 

ฟุตบอลเดียวกัน  มีคำกล่าวกันว่า  ผู้เลี้ยงแกะไม่ได้เกิดแกะ  แกะต่างหากที่เกิดลูกแกะออกมา  

 

             ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่  คริสตจักรเพิ่มพูนโดยกองทัพฆราวาส  พวกเขาไปที่ไหนก็ประกาศเป็นพยาน  และสร้างสาวกที่นั่น   เขาคือคนที่อ่านพระคำ  ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองรู้ให้เพื่อนๆฟัง  เล่าประสบการณ์ว่าพระเจ้าช่วยเขาอย่างไร  เขาเข้าเฝ้าและเรียนรู้การฟังพระสุรเสียง เขาฉายแสงแห่งชีวิตคริสเตียน  ไม่เล่นการพนัน  ไม่ผิดประเวณี  ไม่กินเหล้าเมายา มีใจเมตตา  ขับผี อธิษฐานเผื่อผู้ป่วย  พวกเขาออกไปสร้างสาวก  หรือปั้นน้องฝ่ายวิญญาณตามพระมหาบัญชา (มัทธิว 28:19-20) น้องที่เขาปั้นก็ปั้นสาวกใหม่ ๆ ต่อไป แล้วคริสตจักรจะไม่เพิ่มพูนแบบทวีคูณได้อย่างไร    


               

 

ความจริงพี่น้องในคริสตจักรหลายคน  เข้าใจและรับใช้อย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว  แต่ผมก็คาดหวังว่าเราทุกคน  ในคริสตจักรจะลงสนาม และรับใช้อย่างคริสตจักรในพระธรรมกิจการด้วยกันทั้งหมด  ไม่เว้นใคร แล้วพระเจ้าจะทรงอำนวยพระพรให้คริสตจักรเพิ่มพูน  เชื่อผมเถอะ 



Visitor 197

 อ่านบทความย้อนหลัง