ของประทาน คือ อวัยวะของพระกาย

ศบ.



เดือนนี้ เป็นเดือนของการอธิษฐานและพัฒนาของประทาน
เปาโลเปรียบเทียบ ของประทานกับอวัยวะของร่างกาย “ร่างกาย มิได้ประกอบด้วยอวัยวะเดียวแต่ด้วยหลายอวัยวะ” (1 คร 12:14) แต่ละอวัยวะ ถนัด และทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่เราร่วมกันทำงานด้วยกันโดยมีพระเยซูเป็นศีรษะของพระกาย วันนี้ผมขอพูด เรื่อง แขน ปาก มือ หู เท้า ตา และจมูก

 


1. แขน
อันได้แก่ การปรนนิบัติ (Serving) ภาษากรีก Diakonos แปลว่ามัคนายก อาจช่วยบริการคน เป็นคน ๆ หรือบริการให้งานสำเร็จ โดยไม่ระบุว่า จะช่วยใคร เช่น เข็นรถให้คนป่วย เลี้ยงเด็ก ขับรถบริการคน หรืองานในสำนักงาน
เป็นผู้ช่วย (Helping ) เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นการช่วยสนับสนุน ของประทานอื่นให้ทำงานสำเร็จ เปาโล ชมเชย โอเนสิโฟรัส ว่าช่วยบริการ เปาโล ( 2 ทิโมธี 1:16)
สำแดงเมตตา (Mercy) เขาสำแดงความรัก การให้น้ำแก้วหนึ่งแก่คนหิวในนามพระเยซู การให้ใช้ดอกไม้ เล็ก ๆ เยี่ยมไข้ผู้ป่วย ทำให้เขาฟื้นชื่นขึ้น เป็นการสำแดงเมตตา
บริจาค (Giving ) นี่คือการให้นอกเหนือเงินสิบลด เพื่อสงเคราะห์คนขัดสน หรือเพื่อขยายแผ่นดินของพระเจ้า เขาให้ด้วยมีเป้าหมาย ด้วยใจยินดี ( 2 โครินธ์ 9:7) โดยไม่หวังการตอบแทนใด ๆ

2. ปาก
ครู (Teacher) อาจสอนตัวต่อตัว สอนหน้าชั้นเรียน หรือ สอนผ่านมีเดีย เช่น ลงยูทูป เขียนบทเรียน หรือ สอนผ่านรายการวิทยุ
อภิบาลศิษย์ (Pastor) เป็นการดูแลทุกข์สุขของสมาชิก จำนวนหนึ่ง ต่อเนื่องกันเป็นปี ๆ ของประทานนี้ จะต้องมีการสั่งสอนด้วย ของประทานในการสั่งสอน ทำงานคู่กับ
ความรู้ (Knowledge) เป็นการค้นพบความจริงจากพระวจนะ ความรู้ ความเข้าใจที่ผู้มีของประทานนี้ ต้องใช้ปาก ถ่ายทอดด้วย เปาโลจึงใช้คำว่า “ถ้อยคำที่ประกอบด้วยความรู้” (1 โครินธ์ 12:8)

3. มือ
ในการทำอิทธิฤทธิ์ เช่น การวางมือรักษาโรค (Healer) เป็นการรักษาคนป่วยให้หาย รวมทั้งการบำบัดภายใน เช่น บำบัดความทรงจำ ของประทานนี้ ไม่ได้แข่งขันกับการรักษาโรคโดยใช้ยา ในวิชาแพทย์หรือเภสัช ซึ่งพระเจ้าใช้เพื่อช่วยคนทั้งปวง เปาโล ให้ทิโมธีดื่มเหล้า เป็นยารักษาโรคกระเพาะ ในสมัยนั้น ( 1 ทิโมธี 5:23 ) แต่ของประทานในการวางมือรักษาโรค ไม่ใช้ยา แต่อาจใช้สื่ออย่างอื่นเพื่อหนุนความเชื่อ เช่น การวางมือ (มาระโก 16:18) ที่ เอเฟซัส เปาโลใช้ผ้าเช็ดหน้า (กิจการ 19:12) พระเยซูทรงใช้พระเขฬะผสมโคลน ป้ายตาและให้คนตาบอดไปล้างที่สระสิโลอัม เขาจึงเห็นได้ ( ยอห์น 9:6-7) ยากอบแนะนำให้ ผู้ปกครอง ใช้น้ำมันเมื่ออธิษฐานเผื่อผู้ป่วย (ยากอบ 5:14) สื่อเหล่านี้ ทรงให้ใช้เพื่อช่วยหนุนความเชื่อผู้ป่วย แต่การหายโรคอยู่ที่ความเชื่อผู้อธิษฐานและผู้ป่วย


4. หู และปาก
ผู้เผยพระวจนะ (Prophecy) เป็นผู้ฟัง พระสุรเสียงของพระเจ้าและถ่ายทอด สิ่งที่ตนได้รับมา สิ่งที่เขาได้รับจากพระเจ้า อาจเป็นการทำนายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น อากาบัส ทำนายว่า จะการกันดารอาหารทั่วแผ่นดิน เป็นประโยชน์กับคริสตจักรมาก (กิจการ 15:28-29) อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวัง ให้ผู้นำวินิจฉัย (1 โครินธ์ 14:29) เพราะในยุคสุดท้าย พระเยซูตรัสว่า จะมีผู้พยากรณ์เท็จ ล่อลวงคนให้หลง เกิดขึ้นมากมาย (มัทธิว 24:11)
การเตือนสติ หนุนใจ ( Exhortation) ผู้เตือนสติ เป็นผู้ให้คำปรึกษา เขาต้องเปิดหูออกฟัง คนที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา เขาเป็นนักฟัง เขาต้องอ่านปัญหาของผู้ขอรับคำปรึกษาออก ก่อนที่เขาจะให้คำแนะนำ เตือนสติ หรือหนุนน้ำใจ มิฉะนั้น เขาจะแก้ไขปัญหาของคนที่ท้อถอย หรือผู้ที่มารับคำปรึกษาไม่ได้ ทั้งเขาจะต้องแนะวิธีปฏิบัติต่อไปได้ด้วย บาระนาบัส ได้ชื่อว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” เขาคือ คนที่อ่านออกว่า เซาโล พบพระเจ้าจริง ในขณะที่คนอื่น ต่างระแวง สงสัย เซาโล การเปิดหูฟังเรื่องและอ่านออก เป็นประโยชน์ในงานพระเจ้ามาก เขานำเซาโลไปพบผู้นำ และรับรองท่าน

 

5. เท้า
ออกไปประกาศพระกิตติคุณ ( Evangelist ) เปาโลว่า “เอาข่าวประเสริฐแห่งสันติสุข ซึ่งเป็นเหตุให้ เกิดความพรั่งพร้อม มาสวมเป็นรองเท้า” (เอเฟซัส 6:15) อิสยาห์ ว่า “เท้าของผู้นำข่าวดีมา ก็งามสักเท่าใด..ผู้โฆษณาความรอด” (อิสยาห์ 52:7) การประกาศ ท่านต้องออกไป พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน” (มาระโก 16:15) “ออกไป” แปลว่าไม่ “อยู่กับที่” ของประทานนี้ อาจเป็นการนำวิญญาณส่วนตัว หรือ เป็นผู้ประกาศบนเวทีใหญ่ ริค ยอห์น ให้คนตรวจสอบของประทานนี้ โดยการตอบคำถาม 2 ข้อ (1) ท่านมีใจปรารถนาอย่างจริงจัง แบ่งปันความเชื่อของท่านให้คนอื่น หรือไม่? (2) เมื่อท่านแบ่งปัน คนมาเชื่อพระเจ้าหรือเปล่า ?


6. ตา
ผู้นำ (Leader) เขารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เขามองเห็นว่าเขากำลังจะไปให้ถึงเป้าหมาย ได้อย่างไร ผู้นำรู้ดีว่าเขาไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นเขาจึงมอบหมายให้คนอื่นช่วยทำ ทั้งมอบความรับผิดชอบให้ด้วย เขากระตุ้นให้คนเดินตาม เขาเป็นเจ้าของแกะ มากกว่าเป็นผู้เลี้ยงแกะ ของประทานในการเป็นผู้นำ มักใช้คู่ควบกับการบริหารจัดการ(Administration ) เขาแปล เป้าหมายออกมาเป็น ขั้นเป็นตอน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย จะใช้ใครทำ ใช้เงินเท่าไร ใช้อุปกรณ์อะไร และใช้เวลาแค่ไหน ของประทาน สติปัญญา (Wisdom) เป็นของประทานที่อ่านออกว่า จะใช้ความรู้กับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร

7. จมูก
ผู้สังเกตวิญญาณ (Discerning of Spirits) อ่านกลิ่นออก เขาสามารถแยกดี กับชั่วได้ชัดเจน เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการฝึกหัดอบรมให้สามารถรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว (ฮีบรู 5:13) เขาอ่านออกว่า สิ่งที่คนแสดงออกนั้นมาแต่ไหน มาจาก (1) ตัวเขาเอง (2) วิญญาณชั่ว หรือ(3) พระเจ้า เปโตรอ่านออก ว่า ซีโมน คนทำวิทยาคม ขอพระวิญญาณ จากใจขมขื่น (กิจการ 8:23) ท่านจึงช่วย ซีโมน ได้ (กิจการ 8:22) ของประทานนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อทำลายคน แต่เพื่อช่วยคน

ของประทาน ถูกเปรียบกับอวัยวะของพระกาย ในร่างกาย ไม่มีอวัยวะใดไม่สำคัญ ทุกอวัยวะล้วนมีความสำคัญ เราไม่ควรรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ กับของประทานที่ตนมี ตรงกันข้ามเราควรมั่นใจ และใช้ด้วยใจโมทนาพระคุณ เราไม่ควรเย่อหยิ่ง หรือดูหมิ่นของประทานใด ตรงกันข้ามเราควรถ่อมใจ ยกย่องพระเจ้าผู้ประทานความสามารถพิเศษนี้ให้เรา เปาโลว่า “ผู้ใดเล่า กระทำให้ท่านวิเศษกว่าคนอื่น ท่านมีอะไรที่ท่านมิได้รับมา ก็เมื่อท่านได้รับมา เหตุไฉน จึงโอ้อวดเหมือนกับว่าท่านมิได้รับเลย ( 1 โครินธ์ 4:7) ในร่างกายของเรา อวัยวะทำงานร่วมกัน จึงเกิดงานมากมาย ทำนองเดียวกัน ในคริสตจักร การรับใช้ตามของประทานร่วมกัน จะก่อให้เกิดพระราชกิจที่ถวายพระเกียรติ และช่วยผู้คนได้อย่างมาก

ขอพระเจ้าอวยพระพรน่ะครับ

 

 



Visitor 86

 อ่านบทความย้อนหลัง