ครู

ศบ.

 

 วันนี้เป็นวันครู  ในฐานะที่ผมเป็นครูสอนพระคัมภีร์  ผมขอพูดเรื่องการเป็นครูซะหน่อย

 

        ครูเป็นงานและบทบาทของทุกคน  แม้คนนั้นจะมีของประทานเป็นครูหรือไม่ก็ตาม  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าท่านเป็นพ่อแม่ ท่านก็ต้องสอนลูก  หากเป็นหัวหน้าในงานท่านก็ต้องสอนลูกน้อง  เรามีความรู้และเราอยากให้คนรู้ เราก็ต้องทำบทบาทของครู  คือการสอนเขา  ในคริสตจักรพระคัมภีร์บอกให้เราสอนพระกิตติคุณและพระวจนะแก่คนใหม่  บางคนบอกผมว่า  เพราะเขาไม่ได้มีของประทานเป็นครู  เขาจะไม่สอนใคร  พูดอย่างนี้ไม่ถูกครับ     พระเยซูตรัสสั่งสาวกว่า  “เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวก  ...สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกเจ้าไว้” (มัทธิว 28:19-20) คำบัญชานี้ไม่ใช่สำหรับครูเท่านั้น แต่ทรงบัญชาคริสเตียนทุกคน เปาโลบอกพี่น้องที่เมืองโคโลสีว่า “จงให้พระวาทะของพระคริสต์ดำรงอยู่ในตัวท่านอย่างบริบูรณ์จงสั่งสอนและเตือนสติกันด้วยปัญญาทั้งสิ้น” (โคโลสี 3:16) เปาโลกำลังบอกว่า เรียนพระคำแล้วให้สอนคนอื่นในคริสตจักร เราอาจมีวิธีการพูดแตกต่าง น้ำเสียงแตกต่าง แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความรู้ที่เรามีเราต้องถ่ายทอดให้คนอื่นรู้ด้วย

 

เป้าหมายของครู

 

        แม้เราจะไม่มีของประทาน  แต่เราก็ควรเรียนวิธีการสอน  อาจารย์ ซี ปีเตอร์ แวคเนอร์ ได้ให้คำจำกัดความ ของประทานการสั่งสอน ว่า  “เป็นความสามารถพิเศษที่พระเจ้าทรงโปรดประทานให้แก่สมาชิกในพระกายพระคริสต์ในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจน เรื่องการดำเนินชีวิตคริสเตียน และงานรับใช้ ทำให้สมาชิกในพระกายพระคริสต์เรียนความรู้นั้น” 

 

         อ่านคำจำกัดความนี้แล้ว  พอจะมองเห็นเป้าหมายของครูได้ชัดว่า  เป้าหมายของครูคือการถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้คนเข้าใจ และเรียนรู้  ถ้าเราได้พูดไปแต่คนฟังไม่เข้าใจก็ล้มเหลว 

 

         คำว่าถ่ายทอดให้คนเรียนนี่  มิได้หมายความถึงการพูดแล้วนักเรียนบันทึกไว้ในสมุดโน้ต เก็บไว้ในหิ้งหนังสือ  หรือเข้าใจที่สมองแล้วเก็บไว้เป็นภูมิรู้เฉยๆนะครับ  เขาต้องได้นำมาใช้ด้วยถึงจะเรียกว่าเขาเรียน 

      

         สำหรับการเป็นครูสอนพระคัมภีร์แล้ว  เป้าหมายของครูชัดเจนกว่านั้น  


               

 

คือ การที่ศิษย์ของเราจะต้องเจริญเติบโต  เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณสู่ความไพบูลย์ของพระคริสต์   ลูกศิษย์ของเราจะต้องเข้มแข็ง  ไม่เป็นเด็กอ่อนอีกต่อไป  (เอเฟซัส 4:13-14)

 

         ผมขอแนะนำการเป็นครูสอนพระคัมภีร์ตามแนวคิดของผมนะครับ

 

เรียนด้วยตนเองก่อนสอนคนอื่น

 

        การสอนพระคัมภีร์นี่ไม่ใช่ การสอนแค่วิชาการ  แต่เป็นถ่ายทอดชีวิต  พวกธรรมาจารย์และฟาริสีในสมัยพระเยซูสอบตกในเรื่องนี้  เขาสอนแต่ตัวเองไม่ได้ประพฤติ  น้ำหนักในการสอนจึงไม่มี  ยังแถมเป็นคนหน้าซื่อใจคด  มือถือสากปากถือศีล  พระเยซูตำหนิพวกเขาว่า  เป็นพวกเอาของหนักวางบนบ่ามนุษย์ ส่วนตัวเขาเอง  แม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย” ( มัทธิว 22:4 ) เปาโลเตือนทิโมธี  น้องฝ่ายวิญญาณของท่านว่า “จงเอาใจใส่ทั้งตัวท่าน  และคำสอนของท่าน” (1 ทิโมธี 4:16)  คำสอนของพระเยซูมีน้ำหนักเพราะทุกสิ่งที่พระองค์สอน  พระองค์ปฏิบัติ  คนที่ฟังพระองค์สัมผัสได้ว่าคำสอนของพระองค์มีอำนาจ  คุณตาของผมเป็นหมอ  ท่านสอนคุณแม่ว่า  “จะสอนท่าน ให้เร่งสอนตน” หากท่านอยากสอนเรื่องสิบลด ท่านเองต้องถวายสิบลด หากท่านจะสอนเรื่องการยกโทษ ท่านต้องให้อภัยคนที่มาขอโทษท่าน 

 

 

2. เริ่มจากสิ่งที่เขารู้  

 

         ครู  ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า นักเรียนรู้อะไร  และยังไม่รู้อะไร  ครูสร้างความเบื่อหน่ายให้นักเรียนอย่างมาก  หากเขาจะพูดเป็นชั่วโมงในสิ่งที่นักเรียนรู้อยู่แล้ว  สรุปคือไม่มีอะไรใหม่  เป็นของเก่าซ้ำๆซากๆ  และนักเรียนคงมึนงงอย่างยิ่ง  ที่ไปฟังอะไรใหม่โดยสิ้นเชิงที่ไม่ทราบว่าจะนำไปปะติดปะต่อกับความรู้เดิมของเขาอย่างไร   พระเยซูสอนโดยเริ่มจากความรู้เดิมของเขา  และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้แก่พวกเขาเสมอ  เช่น

 

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า จงรักคนสนิท และเกลียดชังศัตรู ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน จงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้ แล้ว ท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์...” ( มัทธิว 5:43)  

 

     3. พูดถึงหลักเสมอ

 

         การเดินเรื่องให้นักเรียนเข้าใจ  และมั่นใจ  อยู่ที่ผู้สอนมีหลัก  ยึดอยู่บนความจริง ไม่ใช่หลักลอย  หรือหลักปักขี้เลน  แต่เป็นหลักที่สอดคล้องกับเหตุผล  สำหรับการสอนเรื่องชีวิตคริสเตียนแล้ว “พระคัมภีร์”คือหลักอันมั่นคง เปาโลบอกทิโมธีว่า ในโลกนี้ คนชั่วคนเจ้าเล่ห์เลวลง  ล่อคนให้หลง  แต่ท่านกำชับทิโมธีให้สอนพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ( 2 ทิโมธี 3:13-16) เปาโลยังสอนทิโมธีด้วยว่า “ให้ชักชวนด้วยเหตุผล” ( 2 ทิโมธี 4:2) 

 

ก่อนสอนกันและกัน  เปาโลบอกว่า “ให้พระวาทะของพระคริสต์ดำรงอยู่ในตัวท่านอย่างบริบูรณ์” ( โคโลสี 3:16 )  หลักเป็นอะไรที่เราต้องทำความเข้าใจ  และเมื่อเข้าใจแล้ว  เราต้องยึดไว้  ถือไว้  ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  อาทิตย์นี้สอนอย่างหนึ่ง  พออีกอาทิตย์สอนเรื่องเดียวกันอีกอย่างหนึ่ง  นักเรียนคงงง  และเราเองกลับมาบ้านก็คงนอนไม่หลับ  เพราะไม่รู้ว่าพูดอะไรไป  ตีโจทย์ให้แตกเสียก่อน  มิฉะนั้น  เราต้องสับสนแน่เวลาเราถ่ายทอด

 

                                 

 

 4. เดินเรื่องในการสอนให้กระชับ

 

        การสอน ก็เหมือนการเดินทางจาก โบสถ์ในซอยอ่อนนุชไปสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทางขนาดนี้  ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็ถึง  ถ้าเราเดินทางใช้เวลาครึ่งวัน  ก็ต้องผิดปกติแล้ว  ใครเดินทางแบบนี้  ก็ต้องมีสาเหตุมาจาก 3-4 อย่าง คือไม่หลงทาง ก็ต้องไปหยุดพักกลางทาง หรือเฉไฉไปที่ไหนๆสักแห่งแน่ๆ หรือต้องขับรถวกวนไม่ถึงจุดหมายสักที การสอนก็เหมือนกันมีจุดเริ่มต้น มีจุดจบตอนสุดท้าย เดินอย่างกระชับก็จะไม่เสียเวลา การพูดฟุ้งเฟ้อมากถ้อยมากความ หาเนื้อไม่ได้ ก็คงเหมือนน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ผู้สอนต้องฝึกเรียงลำดับ 1  2  3   4  ทำให้นักเรียนไม่สับสนและเดินตามได้ง่าย  

 

      5. ใช้ภาษาง่ายๆ  

 

          บางครั้งผมรู้สึกประหลาดใจนักปราชญ์ยุคใหม่มาก  เพราะเป็นนักพูดที่คนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ใช้ศัพท์แสงที่หายาก  แม้เป็นคนไทยอ่านไทยก็ต้องแปลเป็นไทยอีกที  โดยที่ผู้รู้ทั้งหลายภาคภูมิใจที่คนฟังไม่รู้เรื่องง่ายๆ  เปาโลกล่าวว่า “ถ้าท่านไม่ใช้ภาษาพูดที่เข้าใจได้ง่าย เขาจะเข้าใจคำพูดนั้นได้อย่างไร ท่านก็พูดเพ้อตามลมไป” (1 โครินธ์ 14:9) ผมเคยเขียนกลอนไว้บทหนึ่ง ว่า

                  เสียงแตรดังกึกก้อง     เรียกพล

               ผู้เป่าเองสับสน              แตร่น แตร้

               จังหวะคละระคน             เสียงพัก

               ทหารงงงันชะแง้            หมวดให้ไปไหน

                  จะพูดให้มนุษย์รู้          เรื่องอะไร

               ตัวเราต้องเข้าใจ             ถ่องแท้

               สื่อด้วยภาษาไทย           เรียบง่าย

               ใครฟังไม่ชะแง้              เพราเข้าถึงความ

 

           พระเยซูเป็นสุดยอดแห่งปราชญ์  นักวิชาการและเป็นพระบรมครู  เวลาพระองค์สอนอะไร  ชาวบ้าน  ตาสีตาสาฟังเข้าใจได้หมด  ท่านก็ลองคิดเอาเองก็แล้วกันว่าจะเลือกแบบไหน   


                              

 

  6. ใช้ตัวอย่างประกอบคำสอนเสมอ

 

          ว่ากันว่า   การสอนเปรียบเหมือนการสร้างบ้าน ความจริงเป็นเสาเข็ม  โครงเรื่องเป็นเสาที่ก่อนขึ้นบนหลัก  เนื้อเรื่องเป็นผนัง  และตัวอย่างเป็นหน้าต่างของบ้านหลังที่เราสร้าง บางคน  สร้างบ้านปิดผนังทึบไปเสียทุกด้าน  มองไปก็หนักไม่น่าอยู่  บางคนดีหน่อยเจาะหน้าต่าง  แต่บานเล็กนิดเดียว  เล่าเนื้อเรื่องเสียเยอะมีตัวอย่างเล็กๆ ยังกะช่องให้แมวลอดเข้าไปได้เท่านั้น   หน้าต่างเปิดให้คนเห็นบ้านข้างในฉันใด  ตัวอย่างก็เปิดให้คนเข้าใจคำสอนของเราเท่านั้น  พระเยซูเป็นนักยกตัวอย่าง  พระองค์อธิบายให้คนเข้าใจแผ่นดินสวรรค์โดยเปรียบเทียบกับ  ต้นไม้บ้าง  การปลูกพืชบ้าง  การลากอวนในทะเลบ้าง  พระเยซูทรงยกคำอุปมากับเรื่องที่ชาวบ้านเข้าใจ  และจำได้ติหูทีเดียว  ตัวอย่าง ที่ยกมาเปรียบเทียบต้องตรงกับเรื่อง  และไม่พาให้คนฟังหลงไปติดอยู่ที่ตัวอย่าง  ผมเคยฟังนักเทศน์ที่คนฟังหัวเราะฮากับเรื่องที่สอนทั้งชั่วโมง  แต่พอจบถามว่าวันนี้อาจารย์เทศน์เรื่องอะไร  คนฟังกลับตอบไม่ได้  จำได้แต่มุขตลกเท่านั้น  ก็ไม่ได้วัตถุประสงค์ของการสอน

 

       7. นักเรียนต้องเอาไปใช้ได้ 

 

         การประยุกต์บทเรียนไปใช้ในชีวิตจริงเป็นเป้าหมายสำคัญ  มิฉะนั้นคำสอนของเราก็เป็นแค่ทฤษฎี  ขาดภาคปฏิบัติ  เขาต้องนำไปเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขาได้  พระเยซูเปรียบคนที่ฟัง  แต่ไม่นำไปใช้ว่า เหมือนกับการหว่านพืชตกลงที่ถนน  ที่หินมากดินน้อย  มันไม่ขึ้น  หรือมันขึ้นไม่ได้  ก็ไม่เกิดผลแต่อย่างใด  ครูต้องมุ่งให้นักเรียนเปลี่ยนแปลง  ฟังแต่ไม่ปฏิบัติก็เหมือนสร้างบ้านบนดินทราย   พายุพัดมาบ้านก็พัง


                                           

 

   ไม่อาจต่อสู้ปัญหาได้จริง  

 

       8. อย่ากลัวที่จะต้องสอนซ้ำ

 

         เป้าหมายของครูไม่ได้อยู่ที่สอนให้เสนาะหู  เหมือนทำรายการวิทยุ  แต่ต้องการปั้นลูกศิษย์   การปั้นใครเราจะไม่สนใจอยู่ที่คำพูด หรือวาทศิลป์ของเราเอง  แต่เราจะสนใจผู้ฟัง  ว่ามันทะลุทะลวงเข้าไปในชีวิตของเขาแค่ไหนต่างหาก  เราจะสนใจว่านิสัยเขาเปลี่ยนแล้วหรือยัง  เหมือนพ่อแม่ปั้นลูก  บ่อยครั้งต้องพูดปากเปียกปากแฉะ  เอาจนเขาเปลี่ยน  พระคัมภีร์เป็นหนังสือที่เขียนหลายเรื่อง  ซ้ำแล้วซ้ำอีก  ทำไม  ก็เพราะพระเจ้าต้องการสอนเราแบบครู  คือสอนจนพระคำมันซึมลึกเข้าไปสู่ใจของเรา

 

         เอาละขอจบแค่นี้  ขอให้มีความสุขในวันครูครับ


                             



Visitor 52

 อ่านบทความย้อนหลัง