เรื่องของหัวใจ  

 

ศบ.

 

            สดุดี 139:13-14

            “เพราะ​พระ​องค์​ทรง​ปั้น​ส่วน​ภาย​ใน​ของ​ข้า​พระ​องค์  ​พระ​องค์​ทรง​ทอ​ข้า​พระ​องค์​เข้า​ด้วย​กัน ใน​ครรภ์​มารดา​ของ​ข้า​พระ​องค์       ข้า​พระ​องค์​โมทนา​พระ​คุณ​พระ​องค์​เพราะ​พระ​องค์​ทรง​กระทำ​ให้​ข้า​พระ​องค์​แปลก​ประหลาด​อย่าง​น่า​กลัว ​พระ​ราช​กิจ​ของ​พระ​องค์​อัศจรรย์  ​พระ​องค์​ทรง​ทราบ​ข้า​พระ​องค์​ดี”

             ตอนเรียนคณะเภสัชศาสตร์  ผมมีเพื่อนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการด้วยกัน พอเขารู้ว่าผมเป็นคริสเตียน  เขาก็ต่อว่าผมว่า   “นายเป็นนักวิทยาศาสตร์  นายไปเชื่อพระเจ้าได้ยังไง”   เขาคิดว่า  พระเจ้าเป็นเรื่องไสยศาสตร์  คือพิสูจน์ไม่ได้  ผมก็อธิบายปยืดยาว ทั้งต่อว่าเขากลับไปด้วยว่า  “นายเป็นนักวิทยาศาสตร์  นายไม่เชื่อพระเจ้าได้ยังไง”  เพราะยิ่งเรียนวิทยาศาสตร์  เรายิ่งเห็นความมหัศจรรย์มากมาย ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ  สิ่งเหล่านี้มีระเบียบ ยิ่งใหญ่ ล้ำลึก ส่อปัญญา ตอบสนองความต้องการของคนเรา  เป็นไปไม่ได้ที่จะอุบัติขึ้นมาโดยไม่มีพระผู้สร้าง อย่างไร้ปัญญา  เรื่องใกล้ตัวเราที่สุด คือ ความมหัศจรรย์ของอวัยวะในร่างกายคนเรา  ในห้องปฏิบัติการเราเรียนวิชาสรีระวิทยา  คือ การทำงานของร่างกาย  การเต้นของหัวใจ เรายังได้ดูนับจังหวะการเต้นของหัวใจกบ และ หัวใจเต่า   นี่เป็นวิชาหนึ่งที่เราเรียน   วันนี้ผมขอพูดเรื่องหัวใจคนเรา  

             พระเจ้าทรงวางหัวใจคนเราไว้ที่กลางอก   เพราะเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย   อันเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด หัวใจ ละเอียดอ่อนและแข็งแรง  เที่ยงตรงและยืดหยุ่น  แหม!  ช่าง เหมือนจิตใจคนเรา   หัวใจของเรามีขนาดเท่ากำปั้น  แขวนอยู่ระหว่างหน้าอก ด้านซ้าย  โดยเส้นเลือดใหญ่   ถูกพิทักษ์ให้ปลอดภัย โดยมีถุงน้ำหุ้มหัวใจ ที่เรียกว่า  Pericardium กันกระเทือน  ในกระดูกซี่โครงด้านซ้ายอันแข็งแกร่งกันกระแทก  ใครออกแบบ  เฉียบยิ่งกว่าบรรจุโถแก้วลงในลังไม้ที่บุด้วย เม็ดโฟมนิ่ม ๆ รอบโถในลัง เวลาเราส่งภาชนะบอบบางทางไปรษณีย์

 

             หัวใจเต้น มั่นคง  ปั๊มเลือด (Blood) จากหัวใจไหลเวียน ไปเลี้ยงร่างกายเป็นจังหวะ  ฝรั่งเขาฟังเสียงของหัวใจ ด้วยหูฟังของหมอ เขาได้ยินเสียงดัง   ลับ-ดับ   ลับ-ดับ   ลับ-ดับ   เลือดที่ไหลเวียนจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายคนเรานี้  จะบรรทุก  ออกซีเจน  อาหาร   และ ของเสีย ผ่านทางเส้นเลือดในร่างกาย  ถ้าจะเรียกเลือดของเราว่าเป็นรถบรรทุก  ทำหน้าที่ขนถ่าย ก็คงไม่ผิด เพราะเลือดขนถ่าย ได้เก่งเหลือเกิน  พระเจ้าทรงสร้างร่างกายคนเราสุดยอดแท้ 

 

            ทรงสร้างหัวใจของท่านแข็งแกร่ง

            การปั๊มเลือดให้ไปเลี้ยงร่างกายนี้  หัวใจของเราจะส่งเลือดไปประมาณ เกือบ 6 ลิตร  ( 1 ลิตร เท่ากับ ขวดนมลิตร ที่เราไปซื้อที่ห้างไง)  ไหลเวียน 1 รอบ  คือไหลจากหัวใจ จนกลับมาที่หัวใจใหม่อีกที ใช้เวลา 1 นาที   ดังนั้นใน 1 วัน คือ 24 ชั่วโมง  หัวใจของเราปั๊มเลือด ไปเลี้ยงร่างกาย ประมาณ  5,700 – 6,700 ลิตร  มากอักโขอยู่  มาคำนวนการทำงานของหัวใจตลอดชีพของเราหน่อย  โมเสส ประมาณอายุคนเราว่า  “กำหนดปีของข้าพระองค์คือ 70 หรือสุดแต่กำลังก็ถึง 80”  (สดุดี 90:10)  ครับ  ประมาณอายุคนเราตามนี้   ใน 70-80 ปี หัวใจคนเรา เต้นตามจังหวะ ลับ-ดับ  ลับ-ดับ  อย่างนี้ประมาณ  2,500,000,000 ครั้ง ( 2.5 พันล้านครั้ง )  โดยไม่เคยหยุดพักเอาแรงเลย  ทำงานหนักหน่วงไหมล่ะครับ  ปกติ ไม่มีกล้ามเนื้อส่วนไหน  ในร่างกายของคนเราทนทำงานได้โดยไม่พักเช่นนี้  แค่เราวิ่งไปกิโลสองกิโล เรารู้ว่าเราเมื่อยน่องแค่ไหน   แต่หัวใจก็เป็นกล้ามเนื้อเช่นเดียวกัน   แล้วมันพักตอนไหนล่ะครับ  พระเจ้าสร้างให้มันพักสั้น ๆ (brief pause) ยังไงล่ะ   คือพักตรงช่วงกลาง ระหว่าง  “ลับ”  กับ  “ดับ”  นั่นเอง  หัวใจเราเต้นไปด้วย พักไปด้วย อย่างอัศจรรย์  ปกติ หัวใจจะมีน้ำหนักประมาณ 1/200 ของน้ำหนักตัวของเรา  เช่น   คนที่หนัก  60 กิโลกรัม   หัวใจเขาจะหนักประมาณ  3  ขีด  ใน 1 นาที  หัวใจ ต้องการเลือดมาเลี้ยงตัวมันเอง ประมาณ 300 มิลลิลิตร  ซึ่งนับว่าเยอะอยู่  เป็นธรรมดา ของอวัยวะที่ทำงานมาก ย่อมต้องการเลือดไปเลี้ยงมาก   เช่นเดียวกัน ผู้รับใช้ที่ทำงานมาก  ย่อมต้องการ การเสริมกำลังจากพระเจ้ามากเป็นพิเศษ 

 

              เวลาท่านพบปัญหาหนัก  ท่านทำท่าว่าจะไม่สู้ ยอมแพ้ คนไทยเราเรียกว่า “ใจเสาะ”  อย่าลืมน่ะครับ  ในร่างกายของท่าน พระเจ้าบรรจุ หัวใจแข็งแกร่ง “ใจสู้” ที่เต้นต่อเนื่องติดต่อกันมา ที่ไม่เคยยอมแพ้เลย ไว้ในตัวท่านเอง เป็นแบบในการเลือกใช้ชีวิตของท่าน  “จงสู้อย่างหัวใจที่พระเจ้าประทานไว้ให้ท่าน” 

 

              หัวใจถูกแบ่งออกเป็น 2  ส่วน  ด้านซ้าย และด้านขวา กั้นแยกกันโดยผนัง แต่ละด้าน มีการปั๊ม หรือสูบฉีดเลือดแยกจากกัน    การสูบฉีดเลือดแต่ละด้าน ทั้งซ้ายและขวา  ต่างแบ่งออกเป็นสองห้อง ห้องบน-ห้องล่าง ซ้ายก็สองห้อง  ขวาก็สองห้อง (1)  ห้องบน ที่เรียกว่า  Auricle  รับเลือดเข้ามาสู่หัวใจ  กล้ามเนื้อหัวใจไม่หนานัก  และ(2)  ห้องล่าง  ที่เรียกว่า Ventricle  ส่ง เลือดออกไปจากหัวใจ  มีกล้ามเนื้อที่หนาและแข็งแรง กว่าห้องบนประมาณ 10 เท่า  ใครออกแบบ  กล้ามเนื้อหัวใจห้องบน ไม่ได้ทำหน้าที่ปั้ม   หรือสูบฉีดเลือดไปที่ไหน รับเลือดเข้ามาอย่างเดียว   กล้ามเนื้อจึงไม่จำเป็นต้องหนา ต่างจากห้องล่าง  ทำงานหนักอย่างห้องล่างซ้าย (Left ventricle) นี่  กล้ามเนื้อหัวใจยิ่งหนามาก  เพราะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย  ใครออกแบบอย่างชาญฉลาดเช่นนี้   วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไปหลงเชื่อ ชาร์ล ดาร์วิน สรุปว่า มันเกิดขึ้นมาเอง  โดยไม่มีผู้ออกแบบ 

       

              พระเจ้าได้ทรงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจเป็นกล้ามเนื้อพิเศษ อย่างน่าประหลาด  สานสลับกันไปมา  ทำให้สามารถบีบหดตัว  บิดตัว   เค้นคั้นทุกครั้ง ในจังหวะ “ลับ”   พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในจังหวะหดตัวของการสูบฉีดเลือด

              อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้หัวใจเราเต้น  เป็นคำถามที่ถามกันมาหลายร้อยปีแล้ว   ในปี  1890  นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีพลังงานที่เกิดจาก ปฏิกริยาเคมี และคลื่นไฟฟ้า ที่ควบคุมจังหวะการเต้น  เขาเรียกมันว่า ผู้ให้จังหวะการเต้น (Pace maker) หัวใจเต้น  70 ครั้งต่อนาที   แรงกระตุ้นของคลื่นไฟฟ้าน้อย ๆ นี้ ถูกส่งไปยังเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ  ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว 

 

             หัวใจจึงเป็นเหมือน ปั๊มกล้ามเนื้อไฟฟ้า  ที่พระเจ้าทรงบรรจุไว้   เพื่อส่งให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย  นักสรีรวิทยา ตอบได้ว่า กล้ามเนื้อจุดที่เป็น ผู้ให้จังหวะในการเต้น (Pace Maker) อยู่ตรง ผนังหัวใจด้านบนของ ห้องบนขวา (Right Atrium ) ชี้ตำแหน่งได้ ผ่าตัดเข้าไปดูเนื้อเยื่อได้  ดูแล้ว เนื้อเยื่อหัวใจตรงนี้ก็ไม่ต่างไปจากตำแหน่งอื่น ๆ  นักวิทยาศาสตร์  ตอบไม่ได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจตรงนั้น  มันก่อให้เกิดการเต้นได้อย่างไร   กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า “พระองค์ทรงปั้นส่วนภายในของข้าพระองค์”  คือ พระเจ้าทรงออกแบบด้วยพระปัญญา    ตำราวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง  หลับหูหลับตาพูดว่า มันพัฒนามาเป็นล้าน ๆ จนมาเป็นอย่างนี้ 

              หันมาดูการทำงานของหัวใจบ้าง 

 

 

              เลวีนิติ 17:11 กล่าวว่า “เพราะ​ว่า​ชีวิต​ของ​เนื้อ​หนัง​อยู่​ใน​เลือด”  ทำไมพระคัมภีร์พูดอย่างนี้   ร่างกายของคนเราประกอบด้วยเซลล์ จำนวนหลายล้านเซลล์  แต่ละเซลล์ต้องการอาหาร และก๊าสออกซีเจน  เพื่อผลิตพลังงาน ถึงจะมีชีวิต  อาหารที่เรารับประทานเข้าไป เช่น ข้าว ซึ่งเป็นแป้ง  (Carbohydrate)  จะถูกย่อยให้เล็กลงในระบบทางเดินอาหาร ให้เป็นหน่วยเล็กที่สุดก็คือน้ำตาลกลูโคส(Glucose)  น้ำตาลกลูโคสนี้  จะทำปฏิกิริยาเคมี กับ ก๊าสออกซีเจน (Oxygen)  ในเซลล์ของเรา  ผลที่ได้ของปฏิกิริยาเคมี   คือ ก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์  (Carbon Dioxide)  กับพลังงาน  พลังงาน นี้แหละที่ทำให้ ร่างกายคนเรามีชีวิต อบอุ่น วัดอุณหภูมิได้  มีเรี่ยวแรง เดินเหิน กระโดดโลดเต้นได้   ก็ต้องถามว่า อาหารและ ออกซีเจน  ถูกป้อนไปยังเซลล์ของร่างกาย นับล้านๆเซลล์ทางไหน  คำตอบก็คือ  โดยทาง “เลือด” ที่หัวใจเป็นผู้สูบฉีดส่งไปให้  ครับ ส่งไปให้ต่อเนื่องทุกเวลานาที  เมื่อได้ คาร์บอนไดออกไซด์  ที่เราเรียกว่า ก๊าสเสีย ก็ส่งกลับมายังหัวใจ ทางเส้นเลือดดำ (Veins)  แล้วหัวใจก็ส่งไปยังปอด ในระยะทางสั้นๆ ให้ปอดฟอก  เป็น ก๊าสดี คือ ออกซีเจน  ส่งกลับมายังหัวใจ  ให้หัวใจ ปั๊ม ส่งไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย ในเส้นทางยาวไกล  ทางเส้นเลือดแดง (Arteries) พระเจ้าทรงสร้างให้หัวใจเป็นศูนย์บัญชาการ ส่งเลือดไหลเวียน ยิ่งใหญ่ ในร่างกายของเรา ดังกล่าว 

 

             ให้เราดูการไหลเวียนของเลือดกัน อีกที   เลือดดำ รับคาร์บอนไดออกไซด์ จากเซลล์ของร่างกาย  ไหลกลับมาทางเส้นเลือดดำ (Veins)  เข้าสู่หัวใจทางห้องบนขวา   พอมีเลือดเต็มห้อง  มันจะเปิดลิ้นหัวใจระหว่างห้องบนและห้องล่าง  คลายให้เลือดดำไหลลงไปยังห้องล่างขวา   พอเลือดเต็มห้องล่างขวา ลิ้นหัวใจขวาก็จะปิด กล้ามเนื้อห้องล่างขวา ที่หนาและเข้มแข็งก็จะ บีบขับดันเลือด ส่งตรงไปยังปอด ทางเส้นเลือดดำ ระยะทางสั้น ๆ  ที่ปอดจะมีถุงลมเล็ก ๆ จำนวนมาก เลือดจะคายคาร์บอนได ออกไซด์ออกไป และรับอากาศออกซีเจน สดชื่นภายนอก เปลี่ยนเลือดดำ กลายเป็นเลือดแดง  คือเลือดดี หรือเลือดที่มีออกซีเจน กลับมาทางเส้นเลือดแดง  มายังหัวใจห้อง บนซ้าย  ทำนองเดียวกัน  เมื่อเต็มแล้วลิ้นหัวใจ ระหว่างห้องบนและห้องล่างซ้าย จะเปิดออก เลือดก็จะไหลลงไปยังห้องล่างซ้าย (Left Venticle)  เมื่อเต็มห้องแล้ว ลิ้นหัวใจก็จะปิด ไม่ให้เลือดไหลลงอีก  มีเสียง “ดับ”   แล้วห้องล่างซ้าย  ที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงนี้ ก็จะขับดันเลือดดี ไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายต่อไปทางเส้นเลือดใหญ่ ( Aorta) เหมือนถนน ซูเปอร์ไฮเวย์  แยกเข้าเส้นเลือดแดงกลาง (Arteries) เหมือนรถแยกเข้าถนน  และไหลเข้าไป ในเส้นเลือดแดงเล็ก (Arterioles) ครับ  เหมือนเข้าซอย ที่สุดเลือดก็เข้าไปทางเส้นเลือดแดงฝอย (Capillaries) อย่างแยกเข้าตรอกแคบ ๆ ชนิดเม็ดเลือดแดงวิ่งเรียงหนึ่ง  อย่างรถวิ่งต่อแถวทางเดียว ยังไงยังงั้น  แบก พาเอา ออกซีเจนไปเลี้ยงเซลล์ ทุกเซลล์ทั่วร่างกายเรา       

 

             หัวใจจะทำงานต่อเนื่องกัน   บีบ  และ คลาย ที่เรียกกันว่า  จังหวะบีบตัว (Systole)  และจังหวะคลายตัว (Diastole)  มีเสียง  “ลับ”  “ดับ”  วันต่อวัน   ปีต่อปี ตั้งแต่เราเป็นทารกน้อย จนเราเฒ่าชะแรแก่ชรา จนหมดลมหายใจ  ไม่ว่าจะเป็นยามสุขสบายหรือเจ็บป่วย ไม่ว่าในยามตื่น หรือหลับ ไม่ว่าในยามทุกข์หรือสุข  ไม่ว่าในยามที่เรากลุ้มอกกลุ้มใจหรือดีใจ ไม่ว่าเราจะยากจนหรือร่ำรวย  พระเจ้าให้หัวใจเราเต้นคงเส้นคงวา เหมือนกันหมด  เป็นวัฏจักรวนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป   จนถึงวันอำลาโลกของเราแต่ละคน    

                 การทำงานอันยิ่งใหญ่ ชาญฉลาด มีระบบระเบียบ  คงเส้นคงวา  ก่อให้เกิดพลัง กระฉับกระเฉง ว่องไว  อบอุ่น กระจายไปสู่อีกหลายระบบในร่างกายของเรา  เป็นไปได้อย่างไร ที่เรามิได้โมทนาพระคุณ  พระผู้สร้างผู้ควบคุมดูแลชีวิตอันยิ่งใหญ่ของเรา    กษัตริย์ดาวิดถึงได้กล่าวว่า “ข้าพระองค์โมทนาพระคุณพระองค์เพราะพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพระองค์แปลกประหลาดอย่างน่ากลัว พระราชกิจของพระองค์อัศจรรย์  พระองค์ทรงทราบข้าพระองค์ดี”  

                 อาเมน           

 

 



Visitor 126

 อ่านบทความย้อนหลัง