|
ยุทธการ เอนเทบเบ
ศบ. ผมเคยเล่าเรื่องยุทธการ ชิงตัวประกันคืนมาจากผู้ก่อการร้าย ของคนยิว เมื่อหลายปีก่อน ช่วงนี้ เราทุ่มเทประกาศ ช่วยคนให้รับความรอดหลุดพ้นจากอำนาจของความบาปและมาร เพื่อหนุนใจให้เรา มุ่งมั่นช่วยคน โดยพึ่งพระเจ้า ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังอีกที

ตอนผมเริ่มรับใช้ใหม่ๆ ผมฟังข่าวเรื่อง ทหารอิสราเอล ชิงตัวประกันออกมาจากผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน ที่โด่งดังมาก ไม่นานนัก ก็มีหนังเรื่อง “ปฏิบัติการ เอนเทบเบ” ออกมาฉาย ผมได้ไปดู จึงทำให้ทราบอะไรๆ ที่เป็นอุทาหรณ์หลายๆอย่างแก่เรา (วันนี้ มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาด้วย)
วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 1976 ผู้ก่อการร้ายขบวนการปลดแอกปาเลสไตน์ 4 คน จี้บังคับให้เครื่องบิน แอร์ ฟร้านซ์ ซึ่งออกเดินทางจากเอเธนส์ ประเทศกรีซ ไปยัง เทล อาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล ให้ลงที่สนามบินเอนเทบเบ ประเทศอูกันดา ในอัฟริกากลาง
ผู้ก่อการร้ายคนหนึ่ง ชื่อวิลฟราย โบเซ ชาวเยอรมันบุกเข้าไปยังห้องนักบิน ขณะที่ผู้ก่อการร้ายคนอื่น ถือปืนสั้น และระเบิดมือไว้ในมือ เสียงตามสายพูดกับผู้โดยสาร “ผมชื่อ อัล คิวบาซิ จากกองปลดแอกปาเลสไตน์ ผมจะไม่ทำอันตรายอะไรพวกคุณ ถ้าพวกคุณอยู่อย่างสงบ ไม่ทำอะไรให้เป็นที่สงสัย” ในเครื่องบินลำนั้นมีผู้โดยสารทั้งหมด 248 คน มีเจ้าหน้าที่สายการบินอีก 12 คน เครื่องบินลำนี้เดินทางออกมาจากเทล อาวีฟ จะไปสุดทางที่ปารีส แต่ก็ถูกบังคับ ครั้งแรก ให้ลงเติมน้ำมันที่สนามบิน เบงฮาซี ประเทศลิเบีย และที่นี่ผู้ก่อการร้ายได้ปล่อยสตรีคนหนึ่ง ที่มีครรภ์จะคลอดลูก จากนั้นก็บินต่อไปลงที่สนามบินเอนเทบเบ ใกล้กรุงคัมปาลา เมืองหลวงของอูกันดา ในวันที่ 28 มิถุนายน บังคับให้ผู้โดยสารทั้งหมดไปอยู่ที่อาคารหลังหนึ่งที่สนามบิน ผู้โดยสารที่ถูกจับเป็นตัวประกัน มีชาวยิวอยู่ 105 คน นอกนั้นไม่ใช่ยิว ทั้งหนุ่มสาว และคนชรา มีอาชีพหลากหลาย ได้แก่ หมอ เภสัชกร ครู นักกฎหมาย พยาบาล นักศึกษา นักจุลชีววิทยา วิศวกรคอมพิวเตอร์ เจ้าของปั้มน้ำมัน ช่างเชื่อม รวมทั้งคนที่ปลดเกษียณอายุไปแล้วอีกหลายคน
สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องก็คือ ขอให้ อิสราเอล และอีก 4 ประเทศปล่อย นักโทษปาเลสไตน์ 53 คนที่ถูกจับขังคุกอยู่ในขณะนั้น แลกกับตัวประกันในเครื่องบิน
ห่างจากเอนเทบเบ ขึ้นไปทางเหนือ 2000 ไมล์ ผู้นำอิสราเอลประชุมปรึกษากันอย่างเคร่งเครียด ในห้องประชุมลับ นายกัด ยาโคบิ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เป็นคนแรกที่เอ่ยขึ้นมาว่า “ถ้าเรายอมกับพวกก่อการร้ายจี้เครื่องบิน ขบวนการปาเลสไตน์ คนพวกนี้ก็จะได้ใจ ข่มขู่เรารุนแรงยิ่งขึ้น ผลที่สุดจะไม่มีคนยิวใดๆ กล้าเดินทางออกนอกประเทศ” นายกรัฐมนตรี ยิซาค ราบิน หันไปถาม นายพล มอร์เดไช เกอร์ “คุณมีทางเลือกใดๆ ในทางทหารไหม” เกอร์ยอมรับว่า “ถึงโมงนี้ เราไม่มีข้อมูลเรื่องสนามบินเอนเทบเบ ทางทหารเราจึงยังไม่มีทางเลือกใด”
ราบิน และที่ประชุมลงความเห็นว่า รัฐบาลควรต่อรองกับผู้ก่อการร้ายไปพลางๆก่อน เพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ส่วนทางทหารก็ลองหาทางว่าจะทำประการใดได้บ้าง

ทันที นายทหารก็ประชุมกันที่ฐานทัพในทะเลทรายอย่างเร่งด่วน เพื่อหาช่องทาง ในขณะที่การต่อรองกับผู้ก่อการร้าย ให้เกิดความเชื่อถือยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ มีการส่งข้อต่อรองจากทีมต่อรองของรัฐบาลอิสราเอล ถึงหัวหน้าผู้จี้เครื่องบิน ผ่านทางสำนักงานต่างประเทศฝรั่งเศสในอูกันดา ขณะเดียวกัน ทุกชั่วโมง ทหารอิสราเอลค้นหาข้อมูลมาให้ได้มากที่สุด สนามบินเอนเทบเบ สร้างโดยบริษัทของอิสราเอล แต่เพิ่งมีการขยายสนามบินใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แบบพิมพ์เขียวของสนามบินเก่าจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก
วันที่ 30 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม ผู้ก่อการร้ายปล่อยตัวประกันที่ไม่ได้เป็นคนอิสราเอล 148 คน เหลือเพียงคนยิว 105 คน กับเจ้าหน้าที่สายการบินฝรั่งเศส 1 คน ทำให้อิสราเอลได้ข้อมูลจากตัวประกันที่ปล่อยออกมาว่า ลวดหนามล้อมรั้วอาคารผู้โดยสาร ไม่ได้มีวัตถุระเบิดใดๆ ทหารที่คุมตัวประกันมีกี่คน มีอาวุธอะไรบ้าง พวกเขายืนอยู่ในตำแหน่งใด รัฐบาลอิสราเอลยังคงทำทีต่อรอง โดยให้รายชื่อของนักโทษที่อิสราเอลพอจะ “ยอม” ปล่อยตัว
วันที่ 2 มิถุนายน มีความคืบหน้า 3 เรื่องคือ (1) กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ส่งภาพถ่ายจากดาวเทียมของสนามบินเอนเทบเบให้แก่อิสราเอล (2) อิสราเอล ได้ข้อมูลของสนามบินเพิ่มเติมจากหน่วยสืบราชการลับ และ(3) เคนยา มีการตกลงลับๆกับอิสราเอล พร้อมให้เครื่องบินอิสราเอลลงจอดเพื่อเติมน้ำมัน หลังจากกลับจากอูกันดา และพร้อมให้การพยาบาลรักษา หากตัวประกันบาดเจ็บ อิสราเอลคัดทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยม 200 คน จำกัดเวลาปฏิบัติการทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงบนพื้นดินภายใน 55 นาที
วันที่ 3 กรกฎาคม 2 นาฬิกา ผู้รับใช้ 19 คน รวมตัวกันที่ห้องประชุม ที่ เทลอาวิฟ พวกเขาห่วงใยว่าจะช่วยตัวประกันเหล่านี้ออกมาอย่างไร จึงจะปลอดภัย ตี 3:30 ราบินตัดสินใจครั้งสุดท้ายให้ “ลงมือจู่โจม” การประชุมจบลงด้วยการอธิษฐาน ขอโปรดประทานความสำเร็จจากพระเจ้า ทันที เครื่องบินคาร์โก เฮอคิวลีส ซี-130 ที่ผลิตในอเมริกา 4 ลำบรรทุกทหาร เครื่องบินเจ็ท 707 อีก 2 ลำ มีนายทหารสั่งการ นำโดย นายพล โยนาธัน นาธันยาฮู นอกนั้นก็มีเครื่องบินขับไล่ เพื่อคุ้มครอง ของอิสราเอลอีก 6 ลำก็บินลงไปยังอัฟริกาใต้ ผ่านทะเลแดง เหนือน่านฟ้าประเทศเอทิโอเปีย และเคนยา เครื่องบินพยาบาลลงไปจอดรออยู่ที่ไนโรบี ประเทศเคนยา เครื่องบินอีก 5 ลำทะยานออกจากสนามบินไนโรบิ ผ่านทะเลสาบวิคตอเรีย มุ่งหน้าสู่สนามบินเอนเทบเบ ตลอดระยะเวลา 6 วัน ในห้องพักผู้โดยสาร ที่คนยิวถูกควบคุมตัวไว้นั้น จอมเผด็จการ อีดี อามิน ประธานาธิบดี ของอูกันดา มาเยี่ยมคนเหล่านี้หลายครั้ง เขาได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน ทั้งแนะด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอลควรจะยอมตามข้อเสนอของผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ เครื่องบินเฮอร์คิวลีส ขับลงจอดในความมืดของสนามบินเอนเทบเบ จากเครื่องบินบรรทุก มีรถเมอร์ซิเดซ เบนท์ ขับลงมาจากเครื่องบิน พร้อมกับรถจีพแลนโรเวอร์ อีก 2 คัน ลักษณะเหมือนขบวนรถของอีดี อามิน ที่มาเยี่ยมตัวประกัน ทำให้ทหารอูกันดาไม่สงสัย เครื่องบินเฮอร์คิวลีสอีกสองลำ ลำเลียงทหารหน่วยจู่โจม ไม่มีใครในโลก รวมทั้งผู้ก่อการร้ายคาดคิดว่าอิสราเอลจะใช้วิธีนี้ โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เนื่องจากในเวลาประมาณเที่ยงคืน ตัวประกันกำลังนอนพักผ่อน ส่วนผู้ก่อการร้ายที่ควบคุมยืนอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เป็นเป้าให้หน่วยจู่โจมอย่างดี ทันทีที่เข้าใกล้อาคารผู้โดยสาร ทหารอิสราเอลก็สังหาร ผู้ก่อการร้าย 8 คน ลงไปนอนกองกับพื้น คนต่อคน เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว คนยิวตัวประกันหลายคนคิดว่า “วันนี้คงจะเป็นวันจบสิ้นชีวิตแน่แล้ว” แต่ 4-5 นาทีต่อมา เสียงปืนเงียบลง ทหารคนหนึ่งร้องบอกตัวประกันเป็นภาษาฮีบรู ว่า “เครื่องบินรออยู่ข้างนอก เราจะมาพาพวกคุณกลับบ้าน เดี๋ยวนี้” ตัวประกันส่วนมาก ไม่อยู่ในสภาพเตรียมตัวพร้อม แม้จะเก็บเสื้อผ้าของตน ยิวรอดตายเกือบทุกคน ยกเว้น
(1)ดอรา บรอค ที่ไม่สบายก่อนหน้านั้น และถูกนำตัวไปรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลที่กรุงแคมปาลา ภายหลังเธอถูกอีดี้ อามินสังหาร (2) ตัวประกันถูกฆ่าตาย 2 คน (3) โยนิ เนธันยาฮู นายทหารของอิสราเอล ถูกกระสุนของผู้ก่อการร้าย เสียชีวิต อีก 1 คน นอกนั้นรอดทั้งหมด ทหารอิสราเอล แถมฝากปฏิบัติการด้วยการ ระเบิดเครื่องบินมิก 11 ลำ ของอูกันดาที่จอดอยู่ที่สนามบินเอนเทบเบ เครื่องบินกลับมาโดยการไปเติมน้ำมันและพยาบาลคนเจ็บอยู่ที่ไนโรบี
ทันทีที่ อีดี อามิน ทราบเรื่อง เขารีบเดินทาง 23 ไมล์ จากกรุงแคมปาลา ถึงสนามบินเอนเทบเบ เขาสั่งให้ฆ่าเจ้าหน้าที่เรดา 4 คนทันที
แน่นอน 8 ชั่วโมง เมื่อเครื่องบินเฮอคิวลิส บินกลับมาถึงอิสราเอล ทุกคนเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี บางคนร้องไห้ บางคนอธิษฐาน บางคนสงบนิ่ง ข่าวความสำเร็จของหน่วยจู่โจมนำตัวประกันกลับบ้านแพร่สะพัดออกไปทั่วโลก ปกติคนยิวรู้จักพระบัญญัติ 10 ประการอย่างดี เดวิด บรอมเบอร์ก ประธานของ บิ ไน บริท กล่าวว่า ของขวัญที่ขอมอบให้แก่ชาวโลกก็คือ พระบัญญัติ ประการที่ 11 “เจ้าจงอย่ายอมก้มหัวให้แก่ผู้ก่อการร้าย” อิสราเอล สุ่มเสียงกับความผิดพลาด แต่ที่สุดพวกเขาทำได้สำเร็จ ผมขอสรุปไว้เป็นบทเรียนสำหรับเราน่ะครับ
1.คนถูกขนาบ อำนาจ มาดมารร้าย เราทั้งหลายรู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า และชาวโลกทั้งสิ้นอยู่ใต้อานุภาพของมารร้าย (1 ยอห์น 5:19)
2 ทรงมอบหมาย เราให้ ไปช่วยเขา
พระเจ้าอาจจะทรงโปรดให้เขากลับใจ มาถึงซึ่งความจริงหลุดพ้นบ่วงของ มารผู้ซึ่งดักจับเขาไว้ให้ทำตามความประสงค์ของมัน(2ทิโมธี2:25-26)
3. ตั้งเป้าชัด เตรียมจัดหา มิพาเพลา
อย่าอ่อนระอา จงมีจิตใจกระตือรือร้นด้วยพระวิญญาณ จงปรนนิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้า (โรม 12:11)
4. มีศรัทธา หาญกล้า มิรามือ “เราสั่งเจ้าไว้แล้วมิใช่หรือว่าจงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าตกใจหรือคร้ามกลัวเลย เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” (โยชูวา 1:9)
5. ปฏิบัติการ ตามพระทัย ต้องไวว่อง ท่านทั้งหลายเห็นว่าอีกสี่เดือนจะถึงฤดู้เกี่ยวข้าวแล้วมิใช่หรือ เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่าจงเงยหน้าขึ้นดูนาเถิด ว่าทุ่งนาเหลืองอร่ามถึงเวลาเกี่ยวแล้ว (ยน 4:35)
6. ทุกนาที จดจ้อง ต้องเชื่อถือ จงอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา ทั้งนี้จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง จงอธิษฐานเพื่อธรรมิกชนทุกคน (อฟ 6:18)
7. ในพระมหา บัญชา ว่านี่คือ “นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค”(มธ 28:20)
8. ชัยชนะ เลื่องลือเล่า พระเจ้าเรา ขอให้ผู้ที่หว่านด้วยน้ำตาเก็บเกี่ยวด้วยการโห่ร้องชื่นบาน(สดุดี 126:7)
ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

|
|
|