โลซานน์ เมืองที่มีอดีตอันน่าชื่นชม
ศบ.


โลซานน์ เมืองที่ผมรู้จัก

 

ต้นเดือนมกราคม ปี 1974 ผมเดินทางไปเรียนพระคัมภีร์ที่ โลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ ในชีวิต ผมไม่เคยนั่งเครื่องบิน หรือเดินทางไปต่างประเทศมาก่อน นี่คือครั้งแรกที่เดินทางออกนอกเมืองไทย ผมไปด้วยเครื่องบินซาบินา ของเบลเยี่ยม จากดอนเมืองไปต่อเครื่องบินที่บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยม เครื่องบินไปถึงบรัสเซลส์หัวค่ำ วันรุ่งขึ้น ผมจะต้องนั่งเครื่องบินลำใหม่ จากบรัสเซลล์ไปลงเจนีวา ตอนเช้าตรู่ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาที่พักที่ไหน ไปแล้วจะกลับมายังไง ทำให้ผมตัดสินใจนั่งๆนอนๆ อยู่ที่สนามบินตลอดทั้งคืน อากาศหนาวมาก มกราคมเป็นเดือนที่หิมะกำลังตกหนัก เครื่องบินลำที่พาผมจากบัสเซลล์ไปลงที่เจนีวา เป็นเครื่องบินลำเล็ก มีคนนั่งไม่กี่คน เมื่อลงที่เจนีวาแล้ว ผมก็ลากกระเป๋าขึ้นรถบัสไปยังโลซานน์ ผมมีกระเป๋าใบค่อนข้างใหญ่ใบเดียว บรรจุเสื้อผ้า ของใช้ และพระคัมภีร์ และดิกชั่นนารี ที่กะว่าจะใช้เมื่อเรียนพระคัมภีร์ รถบัสไปส่งผมที่สถานีรถไฟโลซานน์ ซึ่งอยู่กลางเมือง ผมโทรศัพท์ไปที่โรงเรียน บอกให้ใครที่นั่นทราบว่า ผมมาถึงแล้ว ช่วยมารับผมด้วย

 


โลซานน์ ผมอดคิดไม่ได้ว่า นี่คือเมืองที่ในหลวงของเรา เคยศึกษาเล่าเรียนและจบมหาวิทยาลัยที่นี่ ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ในวันที่ 9 มิถุนายน 1946 ครับ โลซานน์ เป็นเมืองที่มีความหมายกับคนไทยไม่น้อย ผมอดนึกขอบคุณพระเจ้า สำหรับสิทธิพิเศษอันนี้ที่ผมได้มาสัมผัส แม้ว่าจะเป็นเพียงประสบการณ์น้อย ๆ ของผม



ขณะรอคนมารับ ผมเดินไปที่ร้านค้าในสถานีรถไฟ จะซื้อยาสีฟัน ผมพบว่า ภาษาอังกฤษของผมใช้ไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าที่นี่เป็นคนสูงอายุ ฟังและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนมากพูดภาษาฝรั่งเศส ซึ่งผมไม่มีความรู้เอาเลย ผมต้องใช้ภาษาใบ้ซื้อของ ต่อมาผมทราบว่า ชาวสวิสซ์ส่วนมากพูด 3 ภาษา ขึ้นอยู่กับเขตเมืองไปติดต่ออยู่กับประเทศใด เช่น ทางเหนือติดกับเยอรมัน ก็จะพูดภาษาเยอรมัน ทางใต้ติดกับอิตาลี ก็จะพูดภาษาอิตาเลียน ตะวันตกนั้นติดต่อกับฝรั่งเศส ก็จะพูดภาษาฝรั่งเศส เจนีวา และโลซานน์อยู่ทางตะวันตก คนที่นี่จึงพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นพื้น ส่วนภาษาอังกฤษนั้น นักศึกษาเขาเรียนในโรงเรียน หนุ่มสาวที่นี่จึงพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาหนึ่งของเขา ก็เหมือนกับผมที่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาหนึ่งเช่นเดียวกัน ผมเอาเงินดอลล่า ไปแลกเป็นเงินสวิสฟรังค์เพื่อซื้อของ สมัยนั้น 1 สวิสซ์ฟรังค์ เท่ากับเงินไทย 5.50 บาท (ทุกวันนี้ 1 สวิสซ์ฟรังค์ เท่ากับ 36.20 บาท )

เพื่อนนักเรียนคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้ขับรถตู้ โฟลกสวาเกนมารับผมที่สถานีรถไฟ เราไม่เคยพบกันมาก่อน เขาดูผมออกทันที เพราะผมเป็นคนไทย คนเดียวที่มายืนรอเขาอยู่ คนสวิสซ์เหมือนกับประเทศในยุโรปทั้งหลาย(ยกเว้นอังกฤษ) คือขับรถโดยมีพวงมาลัยอยู่ด้านซ้าย สำหรับผม มันไม่คุ้นไปหมด ผมคิดว่า ถ้าจะให้ผมขับรถในเมืองนี้ ผมคงต้องปรับตัวเอง เรื่องซ้ายขวา อยู่อีกนาน มิฉะนั้นผมคงต้องขับผิดเลนอย่างแน่นอน

โรงเรียนสอนการประกาศ ของวายแวม ที่ผมเรียน อยู่ที่ ชาเล อาโกเบ (Chale a Gobe) เป็นเนินเขาชานเมืองโลซานน์ ห่างตัวเมืองประมาณ 2-3 กิโลเมตร ติดกับโรงเรียนเป็นป่าสน มกราคม กำลังเป็นช่วงหิมะลงจัด อุณหภูมิน่าจะอยู่ที่ประมาณ -10 องศาซี หรือต่ำกว่านั้น เนินเขาปกคลุมด้วยหิมะทั้งหมด หลังคาโรงเรียน รถที่จอดมีหิมะคลุม ทั้งต้นสนก็ปกคลุมไปด้วยหิมะ เหมือนต้นคริสตมาส ที่เรามาตกแต่งกับสำลีในบ้านเรา โรงเรียนที่ผมเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีนักเรียนมาจากนานาชาติ ส่วนมากเป็นฝรั่งมาจากอเมริกา และยุโรป ซึ่งคุ้นเคยกับอากาศหนาวเหน็บ อย่างเพื่อนที่พักห้องเดียวกับผม ชื่อ บรู๊ซ แฮกแมน แกมาจากรัฐเนบราสก้า อเมริกา บ้านแกหิมะตกเกือบทั้งปี ส่วนผมเป็นคนใต้ ไม่เคยเจอหน้าหนาว จนกระทั่งมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ยอมรับว่า โลซานน์ ฤดูหนาวนี่ หนาวถึงใจจริงๆ โรงเรียนหลังนี้ เดิมเป็นอาคารโรงแรม วายแวมมาซื้อไว้และดัดแปลงเป็นโรงเรียน เป็นตึก 5 ชั้น ผมนอนชั้นบนสุด ในอาคารเขาเดินท่อฮีทเตอร์ ทำความอุ่นให้ตัวอาคาร และแม้ทำความอุ่นแล้ว เวลานอนผมยังใส่เสื้อหนาว ห่มผ้านวม จนเพื่อนเห็นแล้วอดขำผมไม่ได้ เวลาว่าง การไปเล่นเสก็ต สกี ที่เนินเขาของพวกเราที่เป็นนักเรียนนั้นสนุกสนานทีเดียว คนที่มาโลซานน์ รู้จักมีดพับนานาประโยชน์ ช็อคโกแลต ชีทฟองดู การไปชมภูเขาน้ำแข็ง ที่เล่นสกีที่เวเวย์ วิหารใหญ่กลางเมือง และปราสาทริมทะเลสาบเจนีวา

เพื่อนๆในรุ่นที่ผมเรียนมีประมาณ 80 คน เราเรียนรู้จักกันอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความรักพระคริสต์ ความจริง ผมก็ไม่ได้ทุกข์ใจกับความเป็นอยู่นัก เพราะใจอยากได้วิชา เพื่อนชาวสวิสซ์เคยชวนผมไปเยี่ยมบ้านเขา โลซานน์ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเจนีวา ทิวทัศน์สวยงามมาก อากาศดีเยี่ยม ไร้มลพิษอย่างสิ้นเชิง ถนนที่ขับในเมือง ขึ้นๆลงๆ ไปตามความสูงต่ำของเนินเขา คนที่นี่ชอบใช้รถเก๋งคันเล็กๆ ที่มีกำลังมาก เขาบอกว่าไต่เนินได้คล่องตัวดี เขารู้ว่าผมมาจากเมืองไทย ก็ทราบดีว่า กษัตริย์ของไทย 2 พระองค์เคยศึกษาที่เมืองนี้ ซึ่งเขาก็รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติ

ขอเล่าย้อนอดีต เรื่อง พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงศึกษาที่นี่
ในปี 1933 สาเหตุที่สมเด็จย่าทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ทรงเลือกเสด็จมาอยู่ที่โลซานน์ ในสมัยนั้น สมเด็จพระพี่นาง ได้เล่าพระดำริของสมเด็จย่าให้ฟังว่า “น้องชายคนโต (ร.8) สุขภาพไม่แข็งแรงมาตลอด แม่เลยคิดว่าควรไปอยู่ในประเทศที่มีอากาศสบาย ๆ ทีแรกคิดจะไปอยู่อเมริกา เพราะเป็นประเทศที่รู้จักดี และชอบ เพื่อนอเมริกันก็มีมาก แต่เสด็จลุงกรมชัยนาทฯ ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเป็นสาธารณรัฐ เป็นเจ้านายควรไปอยู่ประเทศ เช่นอังกฤษ แต่แม่ไม่อยากไปอังกฤษ เพราะอากาศไม่ดี แม่ทราบข้อนี้ดี ตั้งแต่สมัยทูลกระหม่อมพ่อ เสด็จลุงจึงทรงแนะนำให้ไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อทราบว่าจะไปอยู่โลซานน์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส แม่ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศส”
ในเดือนกันยายน ปี 1933 นั่นเอง พระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งเดิมได้เรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ที่กรุงเทพฯ ก็ได้เข้ามาเรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ที่โลซานน์ ได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ ที่นี่เด็กๆ ได้รับอนุญาตให้ไปเล่นสกี และเสก็ตที่ภูเขา

 


ช่วงนั้น เหตุการณ์ในเมืองไทยเปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงสละราชสมบัติ โดยที่พระองค์มิทรงมีราชโอรส หรือราชธิดาเลย ในเดือน กรกฏาคม 1935 รัฐบาลในสมัยนั้นจึงกราบบังคมทูล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งมีพระชนม์เพียง 9 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ และสถาปนาพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช โดยที่ทั้งสองพระองค์ ยังทรงประทับที่โลซานน์ ต่อไป


และโรงเรียนชั้นมัธยมที่ พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา คือ โรงเรียน เอกอล นูแวล เดอลา ซืออิส โรมองต์ ( Ecole Nouvelle de la Suisse Romande Chailly-sur-Lausanne) ในโลซานน์ จากนั้นได้เสด็จเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ (Lausanne University) โดยทรงเลือกวิชา วิทยาศาสตร์ แขนงวิศวกรรมศาสตร์
เดือนพฤศจิกายน 1938 ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จกลับมาเมืองไทยครั้งแรก ทรงประทับในเมืองไทยเพียง 2 เดือน และกลับมาโลซานน์อีกเพื่อศึกษาต่อ และช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่สามารถเสด็จมาเยือนประเทศไทยได้อีก
ผมเล่าให้สั้นลง
หลังสงครามโลก ในปี 1945 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ (ร.8) ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุ 20 พรรษาขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 1946 เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น คือ ร.8 ถูกลอบปลงพระชนม์ รัฐบาลจึงอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จขึ้นสืบราชสันติวงศ์ ต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชวงศ์จักรี อย่างไรก็ตามเนื่องจาก พระองค์ทรงพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน รัฐสภาจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ส่วนพระองค์จึงเสด็จกลับไปยังโลซานน์ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในสาขาวิชากฎหมาย และรัฐศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์กลับมาปกครองประเทศ
ในช่วงนั้นพระองค์ได้ศึกษาเพิ่มเติม วิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาละติน วิชาการช่าง การดนตรี เช่น ทรัมเป็ต แคริเนท แซกโซโฟน เครื่องดนตรีเหล่านี้ พระองค์ทรงซื้อหาด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงสั่งสม นับเป็นการตั้งพระทัย และพระวิริยะอุสาหะของพระองค์ เพื่อปวงชนชาวไทยที่น่าชื่นชมยิ่ง อีกสิ่งหนึ่ง พระองค์ทรงโปรดการขับรถทางไกล ไปยังที่ต่าง ๆ โดยพระองค์เอง ช่วงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิต์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครทูตไทยประจำกรุงปารีส เริ่มก่อตัวขึ้น

เดือน ตุลาคม 1948 พระองค์ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ บนถนนโลซานน์ เจนีวา พระองค์ทรงบาดเจ็บสาหัส ทำให้พระองค์ต้องรับการผ่าตัดพระเนตรข้างขวา ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ช่วงที่รับการรักษาอยู่นั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ไปเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการที่โรงพยาบาลเป็นประจำ เดือน กรกฎาคม 1949 ที่เมืองโลซาน พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงขอหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กับหม่อมนักขัตรมงคล ในปี 1950 หลังจากพระบรมราชาภิเษก และการขึ้นครองราชย์ พระองค์ยังได้เสด็จกลับไปเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งเพื่อรับการถวายการรักษาพระวรกายเพิ่มเติม
ครับ เรื่องความเป็นมาของพระเจ้าอยู่หัว ในเมืองโลซานน์ นับเป็นความน่าภาคภูมิ และสวยงามยิ่ง เราได้เห็นความมุ่งมั่น การเตรียมชีวิตของพระองค์ มุ่งศึกษาเพื่อเราทั้งหลายที่เป็นคนไทย

เมื่อปี 2007 ช่างฝีมือชาวไทย 14 คนได้สร้างศาลา เรียกกันว่า ไต พาวิลิยองส์ ออง ปาร์ค เดอ นองตู ออง โลซานน์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก พิพิธภัณฑ์ โอลิมปิค เป็นการถวายพระเกียรติ เฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 พรรษา ในการจากไปของพระองค์ หนังสือพิมพ์ เลอนิวส์ ได้เขียนสดุดีพระองค์ อาร์ทีเอส วิดีโอ (ภาษาฝรั่งเศส) ทำเป็นภาพยนตร์ฉายที่ วิลลา ดู ฟรองซาเลย์ อะ ปูยดูร์ แชกเบรอ (Villa du Flonnzaley at Puidoux-Chexbres) เล่าถึงการเยี่ยมสวิสเซอร์แลนด์ของพระองค์เมื่อปี 1960 หนังสือที่กำลังขายดีวันนี้ คือ King Bhumibol and Thai Royal Family in Lausanne ในเล่มนี้จะมีบันทึก ลา แมมมัวร์ เดอ เครยง เซคราดาครี (The memories of Cleon Seraidaris) ผู้ปรนนิบัติครอบครัวของพระองค์ นานถึง 26 ปี ในโลซานน์

หนังสืออ้างอิง
1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา:2539 “แม่เล่าให้ฟัง” หน้า 179-180
2. วารี อัมไพรวรรณ :2540 “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ในหลวงของเรา” หน้า17

 






Visitor 305

 อ่านบทความย้อนหลัง