สงคราม 6 วัน (ต่อ)

ศบ.

 

ผมเล่าเรื่องสงคราม 6 วันต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ

เทียบกำลังรบ คือจำนวนทหาร จำนวนรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบิน กันแล้ว อาหรับ ซึ่งมี อียิปต์ จอร์แดน และซีเรียเป็นต่อยิวอยู่หลายขุม เทียบภูมิประเทศอย่างที่ผมพูดถึงแล้วยิวก็อยู่ในตำแหน่งที่ ปกป้องตนเองค่อนข้างยาก เพราะอาหรับขนาบยิวอยู่รอบด้าน ทั้งมีประเทศอาหรับใหญ่ ๆ แบคอัพอีกหลายประเทศ 

ทั้งหมดนี้ยิวรู้ดี


ปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนเมษายน ปี 1967 ยิวได้ยินการประโคมข่าวทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ และทีวี จากผู้นำอาหรับมากมาย พวกเขากำลังระดมกำลังพล เข้าต่อสู้ยิว แน่นอน มันเป็นช่วงสัปดาห์เครียด ของคนยิวทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศ และ ที่อยู่ต่างแดน พวกเขารู้ซึ้งว่า นี่คือวาระคอขาดบาดตายของยิวอีกครั้ง นี่มันอะไรกัน ไม่มีบ้านอยู่มา 1900 ปี ลงเอยด้วย 22 ปีก่อนหน้านี้ คือปี 1945 ยิวถูกทหารนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสีย 6 ล้านคนในยุโรป ที่รอดตายพอเริ่มตั้งบ้านเรือนในปาเลสไตน์ได้ ก็กำลังจะถูกอาหรับรุมกระทืบอีกหรือ สะบักสะบอมจากเสือ ทำท่าจะมาโดนจระเข้เล่นงานให้ตกทะเลเสียแล้ว


ต่อมา วันที่ 19 พฤษภาคม 1967 อียิปต์เคลื่อนทหารหลายหมื่นเข้าไปแหลมซีไน แล้ว 3 วันต่อมา อียิปต์ก็ เข้าปิดช่องแคบตีราน ปิดเส้นทางเดินเรืออิสราเอลทางทะเลแดงสิ้นเชิง ยิวเตือนอียิปต์ แต่ประธานาธิบดีนัสเซอร์แย้งว่า ไม่ผิด เพราะถือว่า อ่าวอากาบาเป็นของอียิปต์ด้วย ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ถึง วันที่ 4 มิถุนายน 1967 อาหรับ 6 ประเทศ ส่งทหารประชิดชายแดนอิสราเอล 230,000 คน
ขณะคนทั้งโลกจับตามอง
แล้วสงครามก็ประทุขึ้น
ผมจะเขียนเหตุการณ์สำคัญ ๆ ย่อ ๆ ช่วงสงครามน่ะครับ

สงครามวันที่ 1 ( 5 มิย. 1967) อิสราเอล ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดสนามบิน อียิปต์ตั้งแต่เช้ามืด กองทัพอากาศอียิปต์เสียหายหนัก จอร์แดน ซีเรียและอีรักส่งเครื่องบินมาโจมตีเมืองไฮฟา และเมืองเนทันยา จอร์แดนใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าใส่ เทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล


สงครามวันที่ 2 ( 6 มิย. 1967) ปะทะกันทุกแนวรบ ซีเรียใช้ปืนใหญ่ยิงเข้ามาบริเวณชายแดน อิสราเอลบุกยึดฉนวนกาซา จากอียิปต์ได้ ยึดรามัลลาห์ ตะวันออกเฉียงเหนือของเยรูซาเล็ม บังคับให้กองทัพจอร์แดนถอยออกไปจาก เวสแบงค์


สงครามวันที่ 3 ( 7 มิย. 1967) อิสราเอลยึดกรุงเยรูซาเล็มได้ และเข้าปิดล้อม ช่องแคบตีราน ยึดจากอียิปต์คืนมาได้ ยู เอ็น เริ่มตะโกนบอกให้หยุดยิง


สงครามวันที่ 4 ( 8 มิย. 1976) อิสราเอลผนวก เวสแบงค์ มาเข้ากับดินแดนเดิม อียิปต์ยอมรับการหยุดยิง


สงครามวันที่ 5(9 มิย. 1967) มีการสู้รบกันหนักหน่วง ระหว่างซีเรียกับอิสราเอล ที่ที่ราบสูงโกลาน


สงครามวันที่ 6( 10 มิย.1967) อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลานได้ ซีเรียยอมหยุดยิง
ผลของสงครามครั้งนี้ อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย และอีรัก สูญเสียทัพอากาศไปแทบทั้งหมด ทหารจอร์แดนเสียชีวิต 6,000 นาย ทหารซีเรียประมาณ 1000 นาย ทหารอียิปต์เสียชีวิตกว่า 1 1,000 นาย ส่วนทหารอิสราเอล เสียชีวิต ประมาณ 700 นาย
ชัยชนะของอิสราเอลคราวนี้ เสนาธิการทั้งหลาย ที่ชำนาญเรื่องการสงคราม วิเคราะห์กันมาก เพราะว่ากันตามกำลังรบแล้ว ยิวไม่น่าจะสู้อาหรับได้

มีผู้ลงความเห็นกันต่าง ๆ เกี่ยวกับชัยชนะของอิสราเอลและผมขอนำมาเปรียบเทียบเป็นบทเรียนกับ “การทำสงครามฝ่ายวิญญาณ” ของเรานะครับ 

 

(1) อิสราเอล มีหน่วยข่าวกรองที่ดี
มีหน่วยสืบราชการลับ “มอสสาด” ที่ถูกส่งเข้าไปยังประเทศคู่ขัดแย้งทั้งหลาย จึงสามารถล้วงความลับ และแผนการของฝ่ายตรงกันข้ามได้ทุกครั้ง จนอิสราเอลสามารถหาทางแก้ลำได้หมด ก่อนที่คนยิวจะเข้าไปในคานาอัน สมัยโมเสส พระเจ้าให้โมเสสส่งคนสอดแนม 12 คนเข้าไปดูลาดเลาในประเทศ( กดว 13:1-24) ก่อนที่โยชูวาเข้าโจมตีเยรีโค ท่านส่งคนสอดแนม 2 คนเข้าไปหาข่าว ( ยชว 2:1) ในการประกาศพระกิตติคุณ การรู้จักท้องที่ ผู้คน ความเป็นอยู่ ปัญหาเป็นการช่วยให้เราอ่านเกมส์ออก พระเยซูตรัสว่า “มีกษัตริย์องค์ใด เมื่อจะยกกองทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อื่น จะมินั่งลงคิดดูก่อนว่าตนมีพลทหารหมื่นหนึ่ง จะสู้กับกองทัพที่ยกมารบสองหมื่นนั้นได้หรือไม่..” (ลูกา 14:31)

 


(2) อิสราเอลตัดกำลังสำคัญคู่ต่อสู้ตั้งแต่ต้น
กำลังสำคัญที่ยิวอ่านก็คือ ทัพอากาศของอียิปต์คือเขี้ยวเล็บของคู่ต่อสู้ อียิปต์มีเครื่องบินรบ 242 ลำ ยิวมี 228 ลำ อียิปต์มีเครื่องบินทิ้งระเบิด 57 ลำ ยิวมี 19 ลำ อียิปต์มีเครื่องบินลำเลียง 83 ลำ ยิวมี 51 ลำ นี่ยังไม่นับซีเรีย จอร์แดน และอีรัก ที่มีกำลังทางอากาศ ถัด ๆ กันลงมา แต่ฐานกำลังอากาศอียิปต์นั้นยิวประเมินว่าสำคัญที่สุด ด้วยเหตุนี้ในวันแรก อียิปต์เสียเครื่องบินไป 330 ลำ นักบิน 110 นาย ยิวก็ทำลายเครื่องบินเกือบ 90 เปอร์เซนต์ของอียิปต์ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดสนามบินอียิปต์เป็นหลุมขนาดใหญ่ ทำให้สนามบินใช้การไม่ได้ ช่วง 2 วันแรกของการรบ เครื่องบินขับไล่ของจอร์แดน และเครื่องบิน Tu-16 ของอียิปต์เข้าโจมตีทิ้งระเบิดแนวหลังของอิสราเอล แต่ได้ผลน้อยมาก เครื่องบินทิ้งระเบิดของอียิปต์ถูกยิงตก ส่วนเครื่องบินขับไล่ของจอร์แดน ถูกอิสราเอลทำลาย ขณะจอดอยู่ในฐานบิน ทำให้อิสราเอลครองน่านฟ้าในทุกแนวรบ และสนับสนุนกำลังภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการประกาศพระกิตติคุณ ซี ปีเตอร์ แวคเนอร์ กล่าวว่า “ประสิทธิภาพของการพยายามประกาศขึ้นอยู่กับการประสบชัยชนะสงครามฝ่ายวิญญาณในสวรรค์สถาน พระคัมภีร์หลายตอน ชี้ให้เห็นว่า ศาสตราวุธที่เราจะต่อสู้สงครามคือยุทธาธิษฐาน” พระเยซูตรัสว่า “ใครจะเข้าไปในเรือนของคนที่มีกำลัง และปล้นทรัพย์ของเขาอย่างไรได้ เว้นแต่จะจับคนที่มีกำลังมัดไว้เสียก่อน แล้วจึงจะปล้นทรัพย์ในเรือนนั้นได้” (มัทธิว 12:29) เรากำลังสู้รบกับ ศัตรูมีกำลังที่ควบคุมผู้คนอยู่ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ การอธิษฐาน ผูกมัดอำนาจเบื้องหลังเขาก่อน นี่เป็นสิ่งที่เรามักมองข้าม ทำให้เราทำงานให้ประสบความสำเร็จ และทำงานด้วยความเหนื่อยยาก เมื่อออกไปประกาศพระกิตติคุณ


(3) ทหารอิสราเอลได้รับการฝึกฝนดี
ทหารมีการฝึกหนัก ขวัญกำลังใจดีเยี่ยม มีความมั่นใจ มีการตัดสินใจระดับหน่วยย่อยได้ดี และมีอิสระกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพในการรบดีกว่า ในขณะทีทหารอาหรับแม้มีอาวุธดี แต่การฝึกฝน ระเบียบวินัย และความสามารถในการตัดสินใจในระดับหน่วยย่อยย่ำแย่กว่ามาก แถมมาแบบพันธมิตรหลายชาติ แต่การประสานงานเข้ากันไม่ดี ขาดเอกภาพ ความเหนือกว่าด้านปริมาณเลยไม่มีผลต่อการรบ เมื่อตอนดาวิดรบกับโกลิอัท เรารู้ว่าดาวิดชนะยักษ์ ได้โดยการใช้สลิง ยิงก้อนหินโดนหน้าผาก โกลิอัท บางคนบอกว่า เพราะพระเจ้าช่วยให้ก้อนหินวิ่งเข้าเป้า แต่ความจริงประการหนึ่งที่ที่เราต้องยอมรับ คือ ดาวิดฝึกฝนมามาก โดยการฆ่าหมี หรือสิงห์ที่มากัดกินลูกแกะ งานรับใช้ทุกอย่างที่มีประสิทธิภาพ มิได้เกิดจากการขี้เกียจ และรอความมหัศจรรย์ตกลงมาจากฟ้า แต่เกิดจาก การขยันฝึกฝน อย่างจริงจัง บวกกับความเชื่อ พระเจ้าช่วยเราแน่ แต่พระองค์ให้เราทำดีที่สุด คนเราเมื่อทำอะไรจนเกิดความชำนิชำนาญ ความมั่นใจก็จะตามมา ดาวิดมั่นใจว่าสู้ยักษ์ได้ ก็เพราะฝึกใช้สลิงมานับครั้งไม่ถ้วน หากเราอยากเป็นนักนำวิญญาณที่ดี ก็ขอให้ลงสนามมาก ๆ ก็แล้วกัน


(4) ยิวมีความคิดริเริ่ม ประยุคแผนรบตามสถานการณ์
นายพล โมเช่ ดายัน ขุนพลตาเดียว รัฐมนตรีกลาโหมของยิว วางแผนชาญฉลาด เมื่อตัดกำลังทางอากาศได้ กำลังของอาหรับ ก็ขาดเขี้ยวเล็บจากเครื่องบินรบ คงเหลือแต่ภาคพื้นดิน อียิปต์มีกำลังทหาร 100,000 ถึง 160,000 คนในคาบสมุทรซีไน รถถัง 950 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,100 คัน ปืนใหญ่ 1,000 กระบอก แทนที่ยิวจะปะทะเข้าตีอียิปต์ตรง ๆ ยิวใช้วิธีตีโอบ ภาคพื้นดินเปิดแนวรุก 2 แนว คือทางเหนือ และกลาง ส่วนกองทัพอากาศ โจมตีแนวกลางและใต้ ใช้รถถัง ทหารราบ พลร่ม ตัดแนวป้องกันของอียิปต์ได้สำเร็จ ทหารอียิปต์ต้องล่าถอย ไปตั้งแนวรับใหม่ วันที่สี่ กองทัพอิสราเอลมุ่งหน้าเข้าประชิดกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ทำให้อียิปต์ประกาศยอมแพ้ ผมนึกถึงดาวิดสู้กับยักษ์อีก ในความคิดเห็นของกษัตริย์ซาอูล การสู้กับยักษ์ ก็ต้องใช้ดาบ หอก เสื้อเกราะ ปะทะกับยักษ์ แต่ดาวิดคิดต่าง ยักษ์สวมหมวกเหล็ก ใส่เสื้อเกราะ สนับแข้ง หุ้มเหล็กทั้งตัว น้ำหนักมาก เคลื่อนตัวช้า ดาวิดใช้ความประเปรียว ใช้สลิงยิงเข้าที่จุดเปิดของยักษ์ ใช้ดาบยักษ์นั่นเองตัดคอยักษ์ งานประกาศก็ เช่น เดียวกัน การเคลื่อนแบบงุ่มง่าม ใช้บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีได้จำนวนน้อย ไม่น่าจะเหมาะเท่าหนุ่มสาวที่พร้อมเข้าสู่ทุ่งนาอย่างรวดเร็ว แต่มั่นคง

(5) ยิวสู้แบบเอาหลังพิงฝา
ผมพูดเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในฉบับก่อน ถ้าแพ้ก็สิ้นชาติ ในขณะที่ทหารอาหรับ ถ้าแพ้ก็ยังไม่ตาย กลับบ้านได้ สำหรับยิว นั้นไม่ชนะก็คือตาย ยิวย่อมรบแบบถวายหัวอย่างแน่นอน การประกาศพระกิตติคุณก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ทุ่มเทสุดกำลัง ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ไม่มีงานที่มีค่าชิ้นไหน ได้มาโดยการ แค่ทำตามหน้าที่ วิญญาณของการมุ่งมั่น “ไม่ได้ ไม่ยอม” มักขาดหายไปจากผู้เชื่อ ผมชอบพระนเรศวร ที่ทรงมีพระทัยกอบกู้เอกราช คราวที่พม่ายกทัพใหญ่มา 240,000 คน พระองค์มีทหารแค่แสนเดียวเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมั่นพระทัยในชัยชนะ


(6) ยิวมั่นใจว่านี่คือ แผ่นดินที่พระเจ้าทรงประทานให้
มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด การอยู่ในดินแดนนี้ คือน้ำพระทัยของพระเจ้า คนยิวเคยไปอยู่ต่างแดนมาหลายครั้งหลายครา เช่น ที่ อียิปต์ บาบิโลน เปอร์เซีย และครั้งหลังสุดคือ นานาชาติ ตลอดเวลาที่อยู่ต่างแดน คนยิวใฝ่ฝันว่า วันหนึ่งพระเจ้าจะทรงนำเขากลับบ้าน ปาเลสไตน์ คือ บ้าน ไม่มีแรงบันดาลใจอันใด ที่ทำให้คนเราต่อสู้เท่ากับ การรู้ว่านี่คือ “น้ำพระทัย” การประกาศพระกิตติคุณ มีแรงบันดาลใจมาจาก พระมหาบัญชาของพระเยซู ไม่ใช่ความคิดของมนุษย์ แต่เป็นพระดำริ เป็นพระบัญชาของพระองค์
สงครามยุติ 10 มิถุนายน 1967 อิสราเอลจึงประกาศหยุดยิงทั้งหมด อิสราเอลได้ได้เดินแดนเพิ่มมา หลายเท่าตัว และขยายที่พำนักแก่ชาวยิวไปทั่วดินแดนอาหรับที่ยึดมาได้ มาจนปัจจุบัน คือ ฉนวนกาซา เวสแบงค์ ที่ราบสูงโกลาน และแหลมซีไน ถึงคลองสุเอซ ยึดพื้นที่ตั้งของเยรูซาเล็มเก่า เป็นกรุงเดียวกัน ไม่เป็น “เมืองอกแตก” อีกต่อไป
สำหรับคนยิวแล้ว สงครามที่เคยอกสั่นขวัญหาย วันนี้ มันกลับกลายเป็นความชื่นชมยินดี แผ่นดินที่หมิ่นแหม่กับการถูกบุกรุก กลายเป็นปราการแข็งแรง ทุกด้าน ประเทศที่มีพื้นที่น้อยนิด กลายเป็นประเทศที่มีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมาก ความคิดที่ใคร ๆ เคยมองว่า เล็กนิดเดียว คงไม่มีน้ำยาอะไร กลายเป็นเล็กเม็ดพริกที่พิชิตไม่ใช่ง่ายเสียแล้ว สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นข้อด้อยวันนี้ ถ้าเรามีความเชื่อ ต่อสู้เพื่อแผ่นดินพระเจ้าอย่างมั่นคง วันหนึ่งเราจะเห็นว่า มันเป็นปราการอันแข็งแกร่งมั่นคงได้ เชื่อไหมล่ะครับ
ขอพระเจ้าอวยพร

 


อ้างอิง
https://www.sixdaywar.org/timeline.asp
https://www.britannica.com/event/Six-Day-War
Wikipedia
https://www.spokedark.tv/posts/six-day-war/
Wagner, Warfare prayer
https://en.wikipedia.org/wiki/Six-Day_War

 

 



Visitor 588

 อ่านบทความย้อนหลัง